วันนี้ (22 ก.ค. 63) เวลา 12.00 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) หรือศบค. ทำเนียบรัฐบาล พลเอก สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ชี้แจงรายละเอียดหลังการประชุม ศบค. ถึงเหตุผลในการขยายระยะเวลาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จนถึงวันที่ 31 ส.ค. 63
เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เผยว่า ที่ประชุม ศบค. มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่ออีก 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. – 31 ส.ค. 63 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ยังมีแนวโน้มผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยวันละ 2 แสนราย และหลังจากที่ประเทศไทยมีการผ่อนคลายมาตรการอนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้น อาทิ โปรแกรม Medical & Wellness Tourism การอนุญาตให้จัดประชุม งานแสดงสินค้า และถ่ายทำภาพยนตร์ จึงต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยทางสาธารณสุขควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ดังนั้น พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ จึงเป็นมาตรการทางสาธารณสุขที่สามารถให้อำนาจรัฐในการกักตัวสังเกตอาการ 14 วันได้ อย่างไรก็ตาม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า ทีมงานด้านกฎหมายและสาธารณสุขได้หารือในการปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ให้มีบทบาทอำนาจหน้าที่มากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะยกเลิกการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศบค.ต่อ "พรก.ฉุกเฉิน" อีก 1 เดือนถึง31 ส.ค.63
ศบค. เคาะ “คลายล็อก เฟส6” อนุญาต 4กลุ่มต่างชาติเข้าไทย
ทั้งนี้ ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ได้ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานมาระยะหนึ่งแล้ว จึงจะเพิ่มเติมยกเลิกการห้ามชุมนุม เพื่อให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่า รัฐบาลขยายระยะเวลาการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เท่านั้น แต่ผู้ที่ชุมนุมทางการเมือง ก็จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 โดยจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพุธที่ 29 ก.ค. 63
ในตอนท้าย เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ศบค. ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ. โรคติดต่อ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ในช่วงต้นของสถานการณ์ฯ จนกระทั่งมีการออกมาตรการผ่อนคลายระยะต่าง ๆ เกิดขึ้น ซึ่งอำนาจหน้าที่ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ทำให้สามารถกำหนดมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพได้มากขึ้น ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นต้องใช้กฎหมายทั้งสองฉบับควบคู่กัน ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ทั้งนี้ ย้ำว่า การต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในเดือนสิงหาคม เพื่อเป็นประโยชน์ในการทำงานของเจ้าหน้าที่ ไม่มีมาตรการอื่นในเชิงบังคับประชาชนอีกต่อไป ขณะเดียวกันยังคงมีความจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่าจะมีกลไกอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงขึ้นมาใช้ควบคุมแทน