หลังจากเกิดเหตุการณ์ระเบิดที่เลบานอน ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก สร้างความสะเทือนใจไปทั่วโลก ในส่วนของกทม.โดยร้อยตำรวจเอกพงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก "เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง - Earth Pongsakorn Kwanmuang" โดยได้แสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดที่กรุงเบรุตประเทศเลบานอน #PrayForLebanon
พร้อมกันนั้นโฆษกกรุงเทพมหานคร ได้ออกมาบอกเล่าว่า กทม.มีมาตรการป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ ซึ่งข้อแรกที่แจ้งมาคือ ไม่มีสารแอมโมเนียมไนเตรต ที่ถูกจัดเก็บอยู่ในพื้นที่ กทม. แต่หากถามว่ามีสารเคมีตัวอื่นที่ก่อให้เกิดการระเบิดได้มีหรือไม่.. คำตอบคือ มี เช่น ก๊าซหุงต้ม
ต่อคำถามที่ว่าแล้วกทม. มีผู้ประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ คำตอบคือมี และเป็นกลุ่มกิจการการจัดเก็บ การผลิตและการสะสมสารเคมี การขนส่ง และการใช้งานสารเคมีและวัตถุอันตรายเกือบ 5,000 ราย
ในกรณีนี้กทม.มีมาตรการป้องกันเหตุ ลักษณะนี้ล่วงหน้า โดยกทม. มีทีมทั้งในระดับท้องที่คือ เขต และส่วนกลางที่ สำนักอนามัย กทม.เข้าไปตรวจสถานประกอบการทุกแห่งที่มีการจัดเก็บสารเคมี อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีการบริหารจัดการสารเคมีอย่างถูกต้องเป็นไปตามมาตรฐาน
รวมไปถึงจัดการ ,ฝึกอบรมส่งเสริมความรู้ด้านการบริหารการจัดการสารเคมีและวัตถุอันตรายแก่ผู้ประกอบการ ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งกำหนดให้ทุกสถานประกอบการมีแผนรองรับ
นอกจากนั้นแล้วในส่วนของ กทม. ก็มีแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เตรียมพร้อมรับมือกับภัยทุกรูปแบบไว้แล้ว อาทิ ฝึกซ้อมแผนรองรับเหตุฉุกเฉินและการตอบโต้อุบัตภัยสารเคมี ในทุกหน่วยงานของ กทม. ที่เกี่ยวข้อง อย่างต่อเนื่อง
หากมีสารเคมีไม่ได้รับอนุญาตเสี่ยงมีภัยและผิดกฏหมายมีโทษ หากจะให้ กทม.ไปตรวจสอบและจัดเก็บสารเคมี ประสานได้ทั้งสำนักงานเขตทั้ง 50เขต หรือโทร 1555 หรือ กรณีมีเหตุไฟไหม้จากสารเคมี 199 ตลอด 24 ชั่วโมง