สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตือน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 7 Fit สวมเลขสารบบอาหารของผลิตภัณฑ์ยี่ห้ออื่น เข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์อาหารปลอม อีกทั้งโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงผ่านเว็บไซต์ขณะนี้ อย. ประสานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมระงับการโฆษณาและดำเนินการตามกฎหมายแล้ว แนะผู้บริโภค อย่าหลงเชื่อโฆษณาเกินความเป็นอาหาร ที่สำคัญควรตรวจสอบสถานะเลข อย. ก่อนการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์มาบริโภคทุกครั้ง
ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วน 7Fit กรณีข้อมูลผลิตภัณฑ์ไม่ตรงกับฐานข้อมูลของ อย. จากการตรวจสอบพบเว็บไซต์หลักของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้มีการปิดไปแล้ว แต่พบอีก 7 เว็บไซต์ที่ยังทำการโฆษณาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ 7Fit อยู่ เมื่อตรวจสอบ เลขสารบบอาหาร 11-1-18157-1-0230 ที่ระบุบนฉลากผลิตภัณฑ์ พบมีการสวมเลขสารบบอาหารของ ผลิตภัณฑ์อื่น จึงเข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์อาหารปลอม
อีกทั้งยังมีการ โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ระบุข้อความเช่น “หมดปัญหา แคลอรี่ส่วนเกิน ไม่ต้องคุมอาหาร ลดน้ำหนักด้วย สารสกัดจากธรรมชาติ ไม่มีผลข้างเคียง” ซึ่งเป็นการโฆษณาที่เกินขอบเขตความเป็นอาหาร เนื่องจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่มีสรรพคุณในการบำบัดรักษา หรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของร่างกายได้ อย. จึงได้ประสานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อระงับการโฆษณาและดำเนินการตามกฎหมายแล้ว
ขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังอย่าหลงเชื่อโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณ เกินจริงของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เช่น เห็นผลไว เห็นผลจริง ปลอดภัย การันตี ไม่มีผลข้างเคียง เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างลดน้ำหนัก อย. มักพบว่ามีส่วนผสมของสารไซบูทรามีน หรือยาแผนปัจจุบัน ผลที่ได้อาจไม่คุ้มเสีย เพราะนอกจากจะเสียเงินแล้วยังเสียสุขภาพจากผลข้างเคียงของยาดังกล่าว และอาจเสียชีวิตได้
ทั้งนี้ ก่อนการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาบริโภค ขอให้ผู้บริโภคตรวจสอบสถานะเลข อย. ผ่าน 4 ช่องทาง คือ Line : FDAthai, ORYOR Smart Application, เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th และเว็บไซต์ www.oryor.com หากพบรายละเอียดผลิตภัณฑ์ไม่ตรงกับฐานข้อมูล หรือพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่านทาง Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ