14 ส.ค.63 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความถึงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกล่าสุด 13 สิงหาคม 2563 ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า
ทะลุ 21 ล้านแล้ว ณ 14 สิงหาคม 2563 ครับ
ติดเพิ่มถึง 298,676 คน ตายเพิ่มอีก 5,764 คน ยอดรวมตอนนี้ 21,045,633 คน คราวนี้เพิ่ม 1 ล้านคน ใช้เวลาเพียง 3.5 วัน เร็วกว่าช่วงมีนาคมถึง 9 เท่า
อเมริกา...ติดเพิ่ม 55,082 คน รวม 5,407,954 คน...
ผอ.US CDC ออกมาเตือนประชาชนทุกคนให้ใส่หน้ากาก ล้างมือ และอยู่ห่างๆ กัน...หากไม่ทำตอนนี้ อเมริกาจะพบกับสภาพที่ย่ำแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของการสาธารณสุขของประเทศ
Anthony Fauci ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อที่เป็นที่นับถือระดับโลก ก็ออกมาให้ความเห็นว่า แม้แคลิฟอร์เนีย ฟลอริด้า อริโซน่า และเท็กซัส จะมีจำนวนการตายน้อยลงกว่าเดิม แต่ปรากฏว่ารัฐอื่นๆ มีอัตราการตรวจพบเชื้อมากขึ้นอย่างชัดเจน และเป็นสัญญาณเตือนว่า กำลังจะมีระบาดกลับมารุนแรงอีกในไม่ช้านี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อ่วม! ทั่วโลกติดโควิด-19 ทะลุ 21 ล้านราย เสียชีวิตเพิ่ม 6,155 ราย
ผงะโรงงานผลิตแซนด์วิชในอังกฤษ พนักงานเกือบ 300 คนติดโควิด
WHO ชี้ไม่มีหลักฐานบ่งชี้โควิด-19 แพร่ระบาดผ่านทางอาหาร
บราซิล ติดเพิ่ม 60,091 คน รวม 3,224,876 คน
อินเดีย ติดเพิ่ม 64,142 คน รวม 2,459,613 คน
รัสเซีย ติดเพิ่ม 5,057 คน รวม 907,758 คน
เปรูแซงเม็กซิโก ยอดรวมใกล้ห้าแสน ตามหลังแอฟริกาใต้มาติดๆ ทั้งสามประเทศนี้ติดกันหลายพันต่อวันมาตลอด
สเปน เยอรมัน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ อิหร่าน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ล้วนติดกันหลักพันทั้งสิ้น
หลายประเทศในยุโรป รวมถึง แคนาดา ปากีสถาน และออสเตรเลีย ติดกันหลายร้อย ในขณะที่สิงคโปร์ ขยับจากหลักสิบมาแตะหลักร้อยอีกแล้ว
เวียดนาม ฮ่องกง มาเลเซีย เกาหลีใต้ จีน และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มกันหลักสิบ
...สิ่งที่ทำให้คนเริ่มกังวลกันมากขึ้นเรื่อยๆ นอกเหนือจากจำนวนการติดเชื้อ จำนวนการตาย ที่มากมายก่ายกองเช่นนี้แล้ว ยังมีเรื่องภาวะหลังการติดเชื้อครับ
อย่างที่เคยบอกไปว่า สมัยมีการระบาดช่วงแรกๆ หมอๆ ต่างดีใจที่ผู้ป่วยโรค COVID-19 ได้รับการดูแลรักษา และออกจากโรงพยาบาลได้ โดยตรวจ RT-PCR ซ้ำแล้วได้ผลลบ คิดว่าหาย...
แต่ความรู้ในปัจจุบัน มีความชัดเจนแล้วว่า ไม่จบแค่นั้น
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโรค COVID-19 นั้น แม้จะได้รับการดูแลรักษาจนตรวจได้ผลลบแล้ว ยังมีจำนวนกว่า 30% ที่จะมีอาการหลงเหลืออยู่กับตัวไปเรื่อยๆ นานหลายสัปดาห์จนเป็นเดือนๆ ไม่ว่าจะเป็นอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อย สมองตื้องุนงง เหนื่อยเปลี้ย ไม่มีแรงทำงานตามปกติ แม้แต่อาการไอ หรืออาจยังมีปัญหาการดมกลิ่นและรับรส เป็นต้น
ภาวะนี้เรียกว่า "Long COVID" หรือ "Chronic COVID" หรือ "COVID Long Haulers" หรือ "Chronic fatique syndrome" หรือ "Myalgic encephalomyelitis"
ล่าสุดก็เริ่มมีเสียงเรียกร้องให้เกิดการสร้างระบบติดตามและเฝ้าระวังภาวะนี้ในกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 แล้วด้วย เพราะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และส่งผลกระทบอย่างมากต่อการใช้ชีวิตทั้งส่วนตัว ครอบครัว และการทำงาน...คิดคร่าวๆ ตอนนี้อาจมีคนที่ต้องทนทุกข์กับภาวะนี้หลายล้านคนทั่วโลก
ดังนั้นคงจะดีที่สุด หากเราป้องกันตัว และป้องกันสมาชิกในครอบครัว ไม่ให้ติดเชื้อไวรัสนี้
ความเสี่ยงในเมืองไทยมีมากขึ้นดังที่เราทุกคนทราบดี
การใส่หน้ากากจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ถึง 85%
การอยู่ห่างคนอื่นอย่างน้อยหนึ่งเมตรจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโดยเฉลี่ยได้ถึง 80%
หากทำร่วมกับการล้างมือบ่อยๆ พูดน้อยๆ พบคนน้อยลงสั้นลง เลี่ยงที่แออัดที่ชุมนุมที่อโคจร ก็จะทำให้เรามีโอกาสไปรับเชื้อติดเชื้อได้น้อยลงมาก
ถ้าทำกันอย่างพร้อมเพรียง สม่ำเสมอ ไทยเราก็จะไม่ระบาดซ้ำ เปรียบเหมือนวัคซีนป้องกันที่เราแต่ละคนสามารถทำได้เอง
หมั่นสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากมีอาการไม่สบาย ควรหยุดงาน หยุดเรียน แล้วไปตรวจนะครับ
ประเทศไทยต้องทำได้