ซากไวรัสไม่สามารถแพร่เชื้อไปติดผู้อื่นได้จริงหรือ?

20 ส.ค. 2563 | 13:00 น.

"หมอธีระ"ตั้งข้อสงสัย หลังหน่วยงานรัฐฯเผยซากไวรัสไม่สามารถแพร่เชื้อไปติดผู้อื่นได้ พร้อมเห็นต่างและมองว่าไม่น่าจะเป็นความรู้ที่ถูกต้อง

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความถึงสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563 ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat  โดยระบุว่า 


วันนี้ฟังรายการโทรทัศน์ซึ่งเผยแพร่ข้อมูลการให้สัมภาษณ์ของหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง โดยมีการให้ข้อมูลว่า หากได้รับการดูแลรักษาจนดีขึ้นแล้ว อาจตรวจเจอซากไวรัสได้...ซึ่งเป็นความรู้ที่ถูกต้อง


แต่ข้อมูลถัดมา กล่าวทำนองว่า ไม่สามารถแพร่เชื้อไวรัสไปติดผู้อื่นได้นั้น...ไม่น่าจะเป็นความรู้ที่ถูกต้อง


แม้ไวรัส SARS-COV-2 ที่ทำให้เกิดโรค COVID-19 นั้นส่วนใหญ่จะติดเชื้อกันผ่านทางระบบทางเดินหายใจ


ทีมวิจัยจากเกาหลี โดย Jeong HW และคณะ ได้ทำการศึกษาโดยเก็บสิ่งส่งตรวจ ประเภทน้ำลาย ปัสสาวะ และอุจจาระ จากผู้ป่วยโรค COVID-19 จำนวน 5 คน และแสดงให้เห็นแล้วว่า สามารถสกัด"ไวรัสที่มีชีวิต" จากทั้งน้ำลาย ปัสสาวะ และอุจจาระได้


ที่สำคัญมากคือ สามารถตรวจพบได้ใน"ผู้ติดเชื้อที่อาการดีขึ้นแล้ว"ถึง 15 วันหลังจากเริ่มมีอาการ


นั่นตอกย้ำให้เราทุกคนต้องระวัง และป้องกันตัวให้ดี


แม้จะได้รับการดูแลรักษาจนครบแล้ว ตรวจไม่เจอเชื้อในโพรงจมูกแล้ว แต่อาจยังมีโอกาสที่พบในปัสสาวะ อุจจาระได้อีกระยะหนึ่ง


การใส่หน้ากากเสมอ ล้างมือ รักษาระยะห่าง เป็นสิ่งที่ทุกคนควรปฏิบัติให้เป็นนิสัย
 

นอกจากนี้ ยังต้องระวังเวลาเข้าห้องสุขาสาธารณะด้วยนะครับ ทำความสะอาดให้ดี ล้างมือทุกครั้ง และเวลาเข้าใช้บริการก็ควรใส่หน้ากากเสมอเพื่อป้องกันละอองจากโถปัสสาวะหรือโถส้วมกระเด็น


...วันนี้มีเคสใหม่เพิ่มอีก 7 คน ล้วนเป็นคนไทยเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ขอให้ปลอดภัย หายไวไวทุกคนครับ...


เรื่อง COVID-19 นั้นเป็นโรคใหม่ มีความรู้ใหม่เกิดขึ้นตลอดทุกวัน ทั้งที่ตีพิมพ์ในฐานข้อมูลหลักทางการแพทย์ และที่เผยแพร่โดยยังไม่ได้ผ่านการรีวิวอย่างเป็นขั้นตอนมาตรฐาน แต่ก็มีความสำคัญ ดังนั้นทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ จึงจำเป็นต้องอัพเดตความรู้ใหม่ทุกวัน มิฉะนั้นก็จะมีโอกาสที่จะออกนโยบาย มาตรการ หรือคำแนะนำ ที่อาจไม่ถูกต้องเหมาะสม และก่อให้เกิดผลกระทบวงกว้างได้


อย่างไรก็ตาม ไม่มีทางที่ทุกคนจะตามทันหรือรู้ทุกเรื่อง การที่อัพเดตอย่างสม่ำเสมอ และนำมาใช้ทบทวน และปรับนโยบาย มาตรการ และคำแนะนำต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำ


เหนืออื่นใด ควรระลึกเสมอว่า การจะทำคลอดนโยบาย มาตรการ และคำแนะนำใดๆ มานั้น ต้องใช้ความรู้ หลักฐานวิชาการเชิงประจักษ์ ที่พิสูจน์ได้ มีระดับความเข้มแข็งของหลักฐานวิชาการที่น่าเชื่อถือ มากกว่าการใช้แค่ความคิดเห็นหรือประสบการณ์ส่วนตัวของคนใดคนหนึ่ง
 

ยกตัวอย่างเช่นเรื่องยา Hydroxychloroquine เป็นต้น ความรู้ปัจจุบัน พิสูจน์แล้วว่า ไม่ได้ผล แต่ยังมีบางคนที่อาจเชื่อจากความคิดหรือประสบการณ์ส่วนตัว หากเป็นเช่นนั้น นโยบายหรือแนวทางเวชปฏิบัติที่จะใช้ในการดูแลคนหมู่มาก ควรพิจารณาทบทวนให้สอดคล้องกับหลักฐานวิชาการมากกว่าที่จะทำตามความคิดหรือประสบการณ์ส่วนตัว ยกเว้นกรณีที่ไม่มีทางเลือกอื่นเท่านั้น

รักตัวเอง รักครอบครัว ป้องกันตัวอยู่เสมอนะครับ ประเทศไทยต้องทำได้ ด้วยรักต่อทุกคน

อ้างอิง
Jeong HW et al. Viable SARS-CoV-2 in various specimens from COVID-19 patients. Clin Microbiol Infect. 2020 Jul 22;S1198-743X(20)30427-4.