"กฤษฎีกา" ดับฝัน ร่างพ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ คนอายุ 60 ปี รับบำนาญ 3 พัน

25 ส.ค. 2563 | 03:10 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ส.ค. 2563 | 10:43 น.

กฤษฎีกา เสนอนายกฯ ไม่ให้คำรับรอง ร่างพ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ฉบับเครือข่ายประชาชน ให้คนอายุ 60 ขึ้นไป รับบำนาญ 3 พันบาทต่อเดือน เหตุซ้ำซ้อนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 พร้อมเสนอแก้ระเบียบคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติแทน

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เสนอความเห็นเสนอความเพื่อประกอบการพิจารณาของนายกรัฐมนตรีในการให้คำรับรองหรือไม่รับรอง ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... ซึ่งนายนิมิตร์  เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 13,264 คน เป็นผู้เสนอ

สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ที่ภาคประชาชนในนามเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เสนอมีเป้าหมายให้ประชาชนทุกคนเมื่ออายุถึง 60 ปี ได้รับเบี้ยบำนาญ 3,000 บาทต่อเดือน แทนการได้เงินจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และเปลี่ยนจากเบี้ยยังชีพเป็นเบี้ยบํานาญทั่วหน้า พร้อมกับให้คณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยภาคประชาชนจากกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ผู้สูงอายุ เด็กและสตรี คนพิการ ฯลฯ คอยกำกับทิศทาง เช่น ช่วยพิจารณาจัดสรรงบประมาณและทำแผนแม่บทเปลี่ยนเงินสงเคราะห์ต่างๆ ที่ซ้ำซ้อนมาพัฒนาระบบสวัสดิการถ้วนหน้า

ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า นายกรัฐมนตรีไม่ควรให้คำรับรองร่างพระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... เนื่องจากมีพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2564 กำหนดให้ผู้สูงอายุมีสิทธิรับเบี้ยยังชีพได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พ.ศ. 2552 และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552

 

ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2554 กำหนดให้จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรายเดือนแบบขั้นบันได จำนวน 600-1,000  บาท 

 

อย่างไรก็ดี หากประสงค์ให้การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพเป็นไปตามเกณฑ์การจ่ายบำนาญแห่งชาติ ตามหลักการของร่างพระราชบัญญัตินี้ ก็สามารถแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติฯ และระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯ ได้ 

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังมีความเห็นว่า การเสนอให้มีร่างพระราชบัญญัติขึ้นใหม่ที่มีหลักเกณฑ์อย่างเดียวกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่แล้วในปัจจุบัน รวมถึงการเสนอให้ตั้งคณะกรรมการบำนาญแห่งชาติและจัดตั้งสำนักงานบำนาญแห่งชาติในสังกัดกระทรวงการคลังยังมีความซ้ำซ้อนกับองค์กรตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุฯ ซึ่งมีคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติและกรมกิจการผู้สูงอายุเป็นหน่วยงานดำเนินการในเรื่องนี้อยู่แล้ว ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงไม่สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ที่มา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ขอความเห็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน (ร่างพระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. ....)