ถือเป็นข่าวที่ช็อกวงการทีเดียว สำหรับการเสียชีวิตของนักแสดงหนุ่มชื่อดัง "แชดวิก โบสแมน" พระเอกจากเรื่อง Black Panther ที่เสียชีวิตในวัย 43 ปีจากโรคมะเร็งลำไส้ โดยเขาต่อสู้กับโรคนี้มานานกว่า 4 ปี
สำหรับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับต้นๆของหลายประเทศทั่วโลก โดยในไทยพบมากเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย และอันดับ 4 ในเพศหญิง แต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่ 12,467 คน เป็นเพศชาย 6,874 และเพศหญิง 5,593 คน และมีผู้เสียชีวิตวันละ 14 คน หรือ 5,068 ขณะที่ในต่างประเทศ มะเร็งลำไส้ใหญ่พบมากเป็นอันดับ 4 ของสาเหตุการเสียชีวิตจากผู้ป่วยโรคมะเร็งทั่วโลก
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon Cancer) คือ มะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณลำไส้ใหญ่ โดยเริ่มตั้งแต่ส่วนที่ต่อจากลำไส้เล็กไปจนถึงส่วนปลายที่ติดกับทวารหนัก การเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนมากจะเริ่มจากการเกิดติ่งเนื้อขนาดเล็กภายในลำไส้ใหญ่ และเกิดการพัฒนากลายเป็นมะเร็งในที่สุด อย่างไรก็ตามโรคนี้หากตรวจพบเร็ว สามารถที่จะรักษาได้
-อาการแสดงของโรค
ในบางครั้งมะเร็งลำไส้ใหญ่อาจไม่มีอาการผิดปกติบ่งชี้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือบางครั้งอาการที่พบอาจคล้ายกับอาการของโรคอื่น เช่น ปวดท้อง แน่นอืดท้อง อุจจาระผิดปกติ (ท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน หรืออุจจาระลำเล็กลง) อ่อนเพลีย น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีภาวะโลหิตจาง เป็นต้น ดังนั้น เมื่อมีอาการเหล่านี้หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยต่อไป
-ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่
ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี โดยพบว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่กว่า 90 % พบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และ ผู้ที่ชอบรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง หรืออาหารที่ผ่านการปิ้งย่างจนไหม้เกรียมเป็นประจำ และทานอาหารที่มีเส้นใยไฟเบอร์น้อย นอกจากนั้นแล้วผู้ที่มีประวัติเคยมีติ่งเนื้อในลำไส้หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่มาก่อน
มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือเคยมีติ่งเนื้อในลำไส้ และผู้ที่มีประวัติโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory bowel disease: IBD) เป็นเวลานาน
-การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
การเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ เชื่อว่ามีการพัฒนาเป็นขั้นตอนจากเนื้อเยื่อปกติ เกิดเป็นติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่ (Colonic polyps) และพัฒนาไปจนเกิดเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งในระยะเวลาประมาณ 10-15 ปี ดังนั้น การตรวจพบติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่และทำการตัดออก จะสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ร้อยละ 88-90 เทียบกับกลุ่มที่มีติ่งเนื้อแต่ไม่ได้ตัดออก และแม้จะพบเมื่อเป็นมะเร็งแล้ว หากพบในระยะเริ่มต้นก็ยังสามารถทำการรักษาได้
เนื่องจากติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่และมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะเริ่มต้น มักไม่มีอาการร่วมกับอุบัติการณ์ของมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่พบค่อนข้างมาก จึงควรมีการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในผู้ที่มีความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ปานกลาง ควรเริ่มตรวจคัดกรองเมื่ออายุมากกว่า 50 ปี สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือติ่งเนื้อในลำไส้ ควรเริ่มทำการตรวจคัดกรองเร็วขึ้น โดยทั่วไปมักเริ่มทำการตรวจคัดกรองเมื่ออายุมากกว่า 40 ปี
-วิธีการตรวจคัดกรอง
1. การตรวจหาเลือดออกในอุจจาระ (Fecal occult blood test: FOBT) พบว่าช่วยให้ตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่และลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ 33% เมื่อตรวจเป็นประจำทุกปี อย่างไรก็ตาม การตรวจหาเลือดออกในอุจจาระนั้น มีความแม่นยำค่อนข้างต่ำ และมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ผลการตรวจคลาดเคลื่อน และเมื่อตรวจพบความผิดปกติแล้วจำเป็นต้องใช้การตรวจอื่นๆ เพื่อวินิจฉัยต่อไป
2. การส่องกล้อง Sigmoid (Sigmoidosopy) เป็นการส่องกล้องทางทวารหนัก โดยใช้กล้องแบบอ่อนยาว 60 เซนติเมตร ซึ่งจะดูลำไส้ส่วนปลายทางด้านซ้ายได้ แต่ดูได้ไม่ตลอดความยาวลำไส้ โดยถ้าพบติ่งเนื้อที่มีความเสี่ยงในการกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ แนะนำให้ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ต่อทุกราย
3. การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ถือเป็นวิธีที่มีความไวและความจำเพาะในการตรวจสูงที่สุด วิธีนี้จะช่วยให้เห็นภาพภายในลำไส้ใหญ่ทั้งหมด กรณีที่ตรวจพบติ่งเนื้อในลำไส้ สามารถทำการตัดชิ้นเนื้อผ่านทางกล้องเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาได้ หากผลตรวจปกติ แนะนำให้ตรวจซ้ำทุก 5-10 ปี
4. การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ (CT colonography) เป็นการตรวจลำไส้ใหญ่โดยใช้เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สร้างภาพสามมิติขึ้นมา มีความไวและความจำเพาะสูงพอสมควร โดยขึ้นกับขนาดของติ่งเนื้อ ถ้าติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่มีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร ความไวและความจำเพาะของการตรวจจะลดลง และเมื่อตรวจพบความผิดปกติในลำไส้ใหญ่แล้ว ต้องทำการส่องกล้องลำไส้ใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อทำการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาต่อไป
5. การตรวจสวนแป้งลำไส้ใหญ่ (Barium enema) โดยการสวนแป้งแบเรียมซึ่งเป็นสารทึบรังสีให้ผู้ป่วย และถ่ายภาพเอกซ์เรย์การเคลื่อนตัวของแป้งแบเรียมผ่านระบบทางเดินอาหารในส่วนของลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง เพื่อตรวจหาเนื้องอกหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้น มีความไวและความจำเพาะค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะการตรวจหาติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ที่มีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร และพบว่ามีโอกาสตรวจไม่พบมะเร็งในผู้ป่วยที่มีมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้ถึง 1 ใน 5
6. การตรวจค่า Carcino embryonic antigen (CEA) มีความไวและความจำเพาะต่ำ ในการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยทั่วไปการตรวจเลือดหาค่า CEA จะมีประโยชน์ในการติดตามผลการ รัก ษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่า
-การรักษา
มะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยต้องดูความรุนแรงของโรคและชนิดของมะเร็ง ลำไส้ใหญ่ที่ผู้ป่วยเป็น ทั้งนี้อาจใช้การรักษาเพียงวิธีเดียวหรือใช้หลายวิธีร่วมกัน
การผ่าตัด เป็นการรักษาหลักที่แพทย์มักใช้ในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งขึ้นอยู่กับว่ามะเร็งเกิดบริเวณส่วนใด รุนแรงมากน้อยแค่ไหน การรักษาด้วยการผ่าตัดมักต้องรักษาควบคู่กับการทำเคมีบำบัด อาจเป็นก่อนหรือหลังการผ่าตัดก็ได้ โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เพื่อช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
การรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตหรือทำลายเซลล์มะเร็งในร่างกาย โดยเป็นวิธีการรักษาที่อาจใช้หลังการผ่าตัด เนื่องจากเซลล์มะเร็งได้มีการลุกลามเข้าไปในต่อมน้ำเหลือง และช่วยลดความเสี่ยงในการกลับมาของเซลล์มะเร็งได้ หรืออาจใช้ก่อนวิธีการผ่าตัด เพื่อให้เซลล์มะเร็งมีขนาดเล็กลง ในผู้ป่วยที่มีการกระจายของเซลล์มะเร็งไปทั่วร่างกายจะช่วยบรรเทาอาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
การฉายรังสี (Radiation Therapy) โดยการฉายรังสีพลังงานสูงเข้าไปบริเวณที่มีก้อนมะเร็ง เพื่อช่วยลดขนาดของก้อนเนื้องอกให้เล็กลงก่อนการรักษาด้วยการผ่าตัด หรือใช้กำจัดเซลล์มะเร็งที่อาจเติบโตขึ้นมาใหม่หลังการผ่าตัด รวมไปถึงบรรเทาอาการที่เกิดจากโรค วิธีนี้มักใช้รักษาผู้ป่วยควบคู่กับการรักษาด้วยเคมีบำบัด
ที่มาข้อมูล ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่