เส้นเลือดการค้าชายแดนลำน้ำโขงที่เชียงแสนแกร่ง แม้เจอล็อกดาวน์สู้โควิด-19 ยังหยุดไม่ได้ ช่วงปิดด่านยังมีตัวเลขเฉลี่ยเดือนละ 600 ล้าน ส่งผล 10 เดือนแรกปีงบ 2563 ส่งออกฉลุย ยอดพุ่งไปแล้วกว่า 6 พันล้านบาท
การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 กระแทกเศรษฐกิจทั่วโลก เมื่อรัฐบาลแต่ละชาติงัดมาตรการล็อกดาวน์พื้นที่ ให้ปิดสถานประกอบการ ลดการสัญจรผู้คนเพื่อคุมโรค หรือแม้ไม่สั่งปิด แต่การหยุดสัญจรทำธุรกิจต้องปิดตัวชั่วคราวโดยปริยาย
จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 3 ชาติ คือ สปป.ลาว, เมียนมา และจีนตอนใต้ ช่องทางชายแดนทุกด้านถูกสั่งปิดตั้งแต่เดือนมีนาคม อนุโลมให้ส่งออกสินค้าได้เฉพาะที่ด่านถาวรแม่สายและด่านถาวรเชียงของเท่านั้น ซึ่งเป็นไปเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีความจำเป็นต้องใช้สินค้าไทยในชีวิตประจำวัน และช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยให้สามารถดำเนินธุรกิจได้บ้าง
“ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบข่าวย้อนหลังพบว่า จังหวัดเชียงรายสั่งปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวจุดผ่านแดนถาวรกับประเทศเพื่อนบ้านทุกด้าน มาตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. 2563 จนถึงปัจจุบัน แต่ยังอนุโลมให้สามารถส่งออกสินค้าที่ผ่านพิธีการศุลกากรแล้ว ที่ด่านแม่สาย สะพานข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 2 (แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก) และที่ด่านเชียงของ สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 (เชียงของ-บ่อแก้ว) เพื่อลดความเดือดร้อนของผู้ประกอบการและสนองความต้องการสินค้าไทยของผู้บริโภคในประเทศเพื่อนบ้าน
ส่วนการขนส่งทางน้ำผ่านท่าเรือแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงแสน ไม่ได้รับการอนุโลมตามประกาศดังกล่าว จึงคาดการณ์กันว่าจะส่งผลกระทบกับการส่งออกสินค้าผ่านด่านศุลกากรเชียงแสนมากพอสมควร แต่ “ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบแล้วพบว่า หลังประกาศล็อกดาวน์ดังกล่าว การส่งออกสินค้าผ่านด่านศุลกากรเชียงแสน ยังคงมีตัวเลขต่อเนื่อง
โดยเดือนเมษายน 2563 ยังคงมีการส่งออกสินค้าผ่านด่านศุลกากรเชียงแสน เป็นมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 606.32 ล้านบาท เดือนพฤษภาคมประมาณ 587.02 ล้านบาท เดือนมิถุนายนประมาณ 487.28 ล้านบาท เดือนกรกฎาคมประมาณ 474.95 ล้านบาท
แม้จะถดถอยลงจากปกติ แต่ถือว่าการส่งออกผ่านท่าเรือเชียงแสนยังคงลื่นไหลไปต่อได้ เรียกได้ว่าพิษโควิด-19 ที่หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจจนชะงักนั้น หยุดการการค้าชายแดนที่เชียงแสนไม่ได้ การที่ยังคงมีการส่งออก เป็นผลทำให้ 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม2562-กรกฎาคม 2563) การค้าชายแดนที่อำเภอเชียงแสนเฉพาะที่ผ่านพิธีการทางศุลกากรที่ด่านศุลกากรเชียงแสน มีมูลค่าการค้ารวม 6,536.45 ล้านบาท แยกเป็นการนำเข้า 304.83 ล้านบาท การส่งออก 6,231.62 ล้านบาท
แต่เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับปีงบประมาณ 2562 (ตุลาคม2561-กันยายน 2562) จะพบว่ามูลค่าการค้ามีการหดตัวลง เพราะปีงบประมาณ 2562 มีมูลค่าการค้ารวม 12,208.36 ล้านบาท แยกเป็นการนำเข้า 583.80 การส่งออก 11,624.56 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบย้อนหลังไปจนถึงปี 2557 จะพบว่ามูลค่าการค้าชายแดนที่ผ่านด่านศุลกากรเชียงแสนหดตัวลงมากกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา (รายละเอียดตามตาราง)
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ล้านนาตะวันออก”รวมพล เร่งรฟท.ขับเคลื่อนทางคู่ “เด่นชัย เชียงราย เชียงของ”
เชียงราย - แม่ฮ่องสอน คุมเข้มชายแดนหลังโควิดระบาดหนักที่เมียนมา
“อพท.” ผนึก “สศส.” ลุยสร้างเมืองสร้างสรรค์ตามกรอบ “ยูเนสโก”
สต็อก "บ้านจัดสรร"เชียงรายน่าห่วง อัตราดูดซับดิ่งเหลือ 1%
เรื่องนี้น่าฉงน ทั้งที่รัฐบาลให้เปิดด่านค้าชายแดนเพียง 2 จุดในจังหวัดเชียงราย แล้วตัวเลขการส่งออกที่ผ่านด่านศุลกากรเชียงแสนมาจากไหน?
แหล่งข่าวผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกสินค้าชายแดนในจังหวัดเชียงราย อธิบายว่า เบื้องต้นต้องเข้าใจก่อนว่า ตามระเบียบกฎหมายผู้ประกอบการสามารถทำเรื่องขอส่งออกสินค้า โดยผ่านพิธีการที่ด่านศุลกากรเชียงแสน แล้วระบุไปว่าจะส่งสินค้าออกที่ด่านแม่สายหรือด่านเชียงของตามที่เปิดให้ส่งออกได้
แต่สินค้าทั้งหมดมิได้ส่งออกตามด่านที่ระบุ เพราะสินค้าบางส่วนและน่าจะเป็นส่วนมาก ยังคงถูกผ่องถ่ายลงเรือแล้ววิ่งทวนน้ำขึ้นไปส่งให้กับคู่ค้าในเมืองท่าริมฝั่งแม่น้ำโขง เพื่อให้สินค้าเดินทางไปถึงมือผู้บริโภคทั้งในรัฐฉานของเมียนมา และแขวงตอนเหนือของ สปป.ลาว
“ทำอย่างนั้นได้อย่างไร” อันนี้ต้องบอกว่าเป็นความสามารถพิเศษ ของผู้ประกอบการส่งออกสินค้าของไทย “ผู้ประกอบการไทยมีความสามารถหาวิธีส่งสินค้า ไปให้ถึงมือคู่ค้าในประเทศเพื่อนบ้านได้ในทุกสถานการณ์ ประกอบกับทางการไทย โดยกรมศุลกากร ไม่ได้เข้มงวดมากมายว่า ต้องส่งออกเฉพาะตามช่องทางที่ถูกต้องแบบเป๊ะๆ ประมาณว่าจะส่งออกไปช่องทางไหนก็เรื่องของคุณ ขออย่าให้ถูกจับเป็นใช้ได้ แบบนี้แหละจึงเป็นที่มาของตัวเลขการส่งออกที่เชียงแสน”
หากพูดถึงเรื่องของการค้าชายแดนที่เชียงแสน ต้องบอกว่าภาครัฐของไทยลงทุนไปแล้วมากมายหลายพันล้านบาท สำหรับการก่อสร้างท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนริมแม่น้ำโขง ในเขตตำบลบ้านแซว และล่าสุดกรมศุลกากรยังทุ่มงบประมาณอีกกว่า 200 ล้านบาท จัดสร้างอาคารที่ทำการด่านศุลกากรเชียงแสนขึ้นภายในท่าเรือเอ เชียงแสน เพื่อรองรับการค้าชายแดนโดยเฉพาะการค้าชายแดนที่ใช้การขนส่งทางเรือในแม่น้ำโขง
นายชูชัย อุดมโภชน์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ทางศุลกากร กรมศุลกากร ซึ่งเดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารที่ทำการด่านศุลกากรเชียงแสนแห่งใหม่ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่ผ่านมา ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า กรมศุลกากรให้ความสำคัญกับการค้าชายแดน โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าทางเรือในแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นการขนส่งที่มีต้นทุนในการขนส่งสินค้าต่ำ ทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดประเทศเพื่อนบ้าน
อาคารที่ทำการด่านศุลกากรเชียงแสนที่สร้างขึ้นมาใหม่ ทางกรมศุลกากรได้ลงทุนพัฒนาระบบเพื่ออำนวยความสะดวกอย่างมากมาย จนผู้ประกอบการสามารถทำพิธีการนำเข้าและส่งออกต่างๆ ผ่านทางระบบออนไลน์ได้
นายชูชัย อุดมโภชน์ ซึ่งเคยเป็นอดีตนายด่านศุลกากรแม่สาย และเข้าใจพื้นที่และการค้าชายแดนของจังหวัดเชียงรายเป็นอย่างดี ย้ำด้วยว่า กรมศุลกากร พยายามอำนวยความสะดวกให้กับการค้าชายแดน ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ ด้วยมองเห็นแล้วว่าไม่ว่าสถานการณ์ใดจะเกิดขึ้นในโลกใบนี้ การค้าชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านก็ยังคงดำเนินไปได้แบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ผู้ประกอบการไทยได้ส่งออกสินค้ารักษาฐานที่มั่นส่วนแบ่งทางการตลาดของสินค้าไทยในประเทศไทยเพื่อนบ้าน ในขณะที่ผู้ประกอบการในประเทศเพื่อนบ้านได้มีสินค้าที่เป็นที่ต้องการของบริโภคไว้จำหน่าย วิน-วินกันทุกฝ่าย ด้วย ณ วันนี้สินค้าไทยยังครองใจผู้บริโภคในประเทศเพื่อนบ้านเหนือกว่าสินค้าชาติอื่น
แต่หากดูสถิติการค้าชาย แดนของเชียงแสน (ตามตาราง) แล้วจะบอกว่าช่วงนี้เป็นช่วง“ขาลง” ก็ว่าได้ เป็นการบ้านข้อใหญ่ ที่ผู้ประกอบการไทยและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จะต้องไปหาทางแก้ไขให้ได้ เพื่อให้การค้าชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านดำเนินต่อไปได้อย่างที่ควรจะเป็น
ประวัติ ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน
ชัยณรงค์ สีนาเมือง/รายงานจากพื้นที่