รู้จัก “ALS – ไทรอยด์เป็นพิษ” โรคร้ายคร่าชีวิต "แม่ทุม-ปทุมวดี เค้ามูลคดี"

07 ก.ย. 2563 | 04:38 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ย. 2563 | 12:02 น.

ทำความรู้จัก โรค ALS  และโรคไทรอยด์เป็นพิษ 2 โรคร้ายที่คร่าชีวิต “แม่ทุม-ปทุมวดี เค้ามูลคดี” เพื่อรู้ทัน รับมือ และรักษาโรคได้ทันท่วงที 

จากกรณีข่าวเศร้าในวงการบันเทิงของไทย ที่วันนี้ (7 กันยายน 63)  แม่ทุม-ปทุมวดี เค้ามูลคดี ภรรยาสุดที่รักของ "รอง เค้ามูลคดี" ดารารุ่นใหญ่วงการบันเทิงไทย ได้เสียชีวิตลงแล้วด้วยวัย 72 ปี หลังต่อสู้กับอาการป่วยจากไทรอยด์เป็นพิษ และโรค ALS (กล้ามเนื้ออ่อนแรง) มานานร่วม 8 ปี

 

ฐานเศรษฐกิจ รวบรวมข้อมูลของโรค ALS และ โรคไทรอยด์เป็นพิษ มาเพื่อเป็นความรู้ จะได้รับมือและรักษาโรคนี้ได้อย่างทันท่วงที  เริ่มจาก

 

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส (ALS)

ALS (Amyotrophic Lateral Sclerosis) หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส เป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาทที่ส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรง กล้ามเนื้อกระตุก และกล้ามเนื้อลีบ ทั้งยังมีปัญหากับการพูด การเคี้ยว การกลืนอาหาร การเคลื่อนไหวร่างกาย และการหายใจ โดยอาจเกิดจากเซลล์ประสาทเสื่อมสภาพหรือถูกทำลาย และอาการจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจเสียชีวิตได้ ซึ่งในปัจจุบันก็ยังไม่มีวิธีการรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้

 

อาการของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS

โดยทั่วไป อาการมักเริ่มที่มือ เท้า แขน หรือขา แล้วจะค่อย ๆ กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย โดยผู้ป่วยอาจมีอาการ ดังนี้

- อ่อนแรงบริเวณแขน ขา มือ หรือเท้า จนมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจทำให้เกิดความยากลำบากในการเดิน อาจสะดุดล้ม หรือหยิบจับสิ่งของไม่สะดวก

- รู้สึกปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ลีบ และกระตุก รวมทั้งอาจมีอาการแข็งเกร็งบริเวณแขน ไหล่ และลิ้น

- พูดไม่ชัด เคี้ยวและกลืนอาหารลำบาก

- หายใจไม่สะดวก เนื่องจากไม่สามารถควบคุมกระบังลมได้ ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยในการหายใจ

- ไม่มีแรงพยุงลำคอ ทำให้มีอาการคอตก

 

ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรค ALS มักจะเสียชีวิตภายในเวลา 3-5 ปี เนื่องจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลว อย่างไรก็ตาม บางรายอาจอยู่ได้นานกว่า 10 ปี ซึ่งขึ้นอยู่กับการดูแลร่างกายของแต่ละคนด้วย

 

สาเหตุของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส

ในปัจจุบัน สาเหตุของโรค ALS ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มีข้อสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

-    ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันหรือโปรตีนบางชนิดที่อาจทำให้เซลล์ประสาทตาย

-    ความไม่สมดุลของสารเคมีในร่างกาย อย่างการมีระดับกลูตาเมตสูงเกินไป

-    ปัจจัยทางพันธุกรรมที่ทำให้เซลล์ประสาทเสื่อมสภาพ

-    การอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีปัจจัยหลายอย่างที่อาจนำไปสู่โรคนี้ได้ เช่น มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรค ALS มีอายุระหว่าง 40-60 ปี มีเพศชาย สัมผัสกับโลหะหรือสารเคมีบางชนิด มีอาการบาดเจ็บ ติดเชื้อจากบาดแผลอย่างรุนแรง สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

 

ทั้งนี้ อาจแบ่ง ALS ออกเป็น 2 ประเภทตามปัจจัยเสี่ยง คือ

-    Sporadic ALS หรือ ALS ที่เกิดขึ้นเองโดยไม่พบปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน พบมากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยทั้งหมด

-    Familial ALS หรือ ALS ที่เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม พบเพียงร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วยทั้งหมด

รู้จัก “ALS – ไทรอยด์เป็นพิษ” โรคร้ายคร่าชีวิต \"แม่ทุม-ปทุมวดี เค้ามูลคดี\"

การวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส

ในเบื้องต้น แพทย์อาจวินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยอาจบันทึกอาการในแต่ละวันเพื่อให้แพทย์พิจารณาอาการป่วยได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ แพทย์อาจประเมินจากประวัติโรค ALS ของคนในครอบครัวด้วย

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีวิธีวินิจฉัยโรค ALS ที่ชัดเจน แพทย์จึงมักใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อตรวจหาโรคอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายกันด้วย ดังนี้

-    การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ ใช้ประเมินกิจกรรมทางไฟฟ้าของกล้ามเนื้อ เพื่อวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและระบบประสาท 

-    การชักนำประสาท เป็นการตรวจโดยกระตุ้นเส้นประสาท เพื่อวัดความเร็วและความแรงของสัญญาณประสาท

-    การตรวจภาพถ่ายจาก MRI Scan เป็นการถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก โดยแพทย์อาจใช้วิธีนี้เพื่อตรวจหาโรคหรือภาวะอื่นที่ทำให้เกิดอาการคล้ายกับโรค ALS ด้วย เช่น เนื้องอกในไขสันหลัง และโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท เป็นต้น

-    การตรวจเลือดและปัสสาวะ แพทย์อาจตรวจเลือดและปัสสาวะเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุของอาการให้ละเอียดยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยโรค ALS ในระยะแรกอาจมีอาการคล้ายกับโรคอื่น ๆ

-    การเจาะน้ำไขสันหลัง เป็นการเจาะนำน้ำที่หล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังมาตรวจ เพื่อวินิจฉัยโรคที่เกิดขึ้นกับสมองและระบบประสาทส่วนกลาง

-    การตัดชิ้นเนื้อตัวอย่าง เป็นการนำตัวอย่างชิ้นเนื้อของกล้ามเนื้อมาตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการอย่างละเอียด เพื่อวินิจฉัยโรคและยังใช้ตรวจหาสาเหตุของโรคกล้ามเนื้ออื่น ๆ ได้ด้วย

 

การรักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส

ALS เป็นโรคที่ไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ แต่แพทย์ก็มีวิธีรักษาเพื่อชะลอการดำเนินโรค บรรเทาอาการต่าง ๆ และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนตามดุลยพินิจของแพทย์ ดังนี้

การรักษาด้วยยา

ยาที่แพทย์มักใช้รักษาผู้ป่วยโรค ALS คือ ยาไรลูโซล (Riluzole) ที่อาจช่วยชะลอการดำเนินโรคโดยออกฤทธิ์ต้านสารกลูตาเมต ยานี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางอย่าง เช่น เวียนศีรษะ ส่งผลให้เกิดความผิดปกติในระบบทางเดินอาหารและการทำงานของตับ เป็นต้น และยาอีดาราโวน (Edaravone) ที่อาจช่วยลดการเสื่อมของเซลล์ประสาท นอกจากนี้ แพทย์อาจให้ยาเพื่อบรรเทาอาการอื่น ๆ ด้วย เช่น ยาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ยารักษาอาการหลั่งน้ำลายมากเกินไป และยารักษาภาวะซึมเศร้า เป็นต้น

 

การบำบัด

ผู้ป่วยอาจบรรเทาอาการด้วยวิธีการบำบัดต่าง ๆ เช่น

-    กายภาพบำบัด ผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายด้วยวิธีที่ไม่ต้องใช้แรงมาก เช่น การเดิน การว่ายน้ำ การปั่นจักรยานอยู่กับที่ เป็นต้น เพื่อช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับความเมื่อยล้าและภาวะซึมเศร้า

-    อรรถบำบัด เป็นการฟื้นฟูความผิดปกติทางการพูด การออกเสียง และการกลืน

-    กิจกรรมบำบัด เป็นการบำบัดเพื่อทำให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองและใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ ทั้งการใช้อุปกรณ์เพื่อช่วยในกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การแต่งกาย การอาบน้ำ เป็นต้น รวมถึงควรจัดวางสิ่งของในที่อยู่อาศัยเพื่อให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้อย่างสะดวกมากขึ้น

-    โภชนบำบัด เป็นการดูแลเรื่องอาหารการกินของผู้ป่วย เพื่อให้ได้รับแคลอรี่และสารอาหารที่เหมาะสม โดยให้เลี่ยงอาหารที่กลืนได้ยาก เพื่อป้องกันการสำลัก และในบางกรณีอาจต้องใส่ท่อให้อาหารเข้าไปในกระเพาะอาหารด้วย

-    การช่วยเหลือด้านจิตวิทยาและสังคม ผู้ป่วยอาจต้องได้รับความช่วยเหลือจากนักสังคมสงเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องการเงิน ประกันสุขภาพ และค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมทั้งความช่วยเหลือจากนักจิตวิทยา เพื่อให้ได้รับการดูแลด้านสภาพจิตใจและอารมณ์ของทั้งตัวผู้ป่วยและครอบครัว

 

การใช้เครื่องช่วยหายใจ

หากเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับกล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจจนทำให้ผู้ป่วยหายใจไม่สะดวก แพทย์อาจต้องให้ผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส

ผู้ป่วย ALS อาจมีปัญหาในการพูด ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ จนอาจต้องอาศัยเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อช่วยในการสื่อสาร รวมทั้งการเคี้ยวอาหารและการกลืนที่ยากลำบากก็อาจทำให้ผู้ป่วยสำลักอาหาร และอาจทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการได้

 

นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจสมองเสื่อมจากการได้รับผลกระทบด้านความคิด ความจำ และการตัดสินใจ จนทำให้อาจมีบุคลิกภาพที่เปลี่ยนไปหรือไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ ยิ่งไปกว่านั้น โรค ALS อาจส่งผลต่อกล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจ ทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก ทั้งยังอาจทำให้ปอดบวมหรือระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดในการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคนี้ด้วย  

 

การป้องกันโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส

เนื่องจากยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดโรคนี้ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้ จึงทำให้ยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคที่แน่นอน แต่อาจลดความเสี่ยงของโรคได้ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

-    ดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วยการออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่เหมาะสม

-    ไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มแอลกอฮอล์

-    หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารโลหะหรือสารเคมีอันตราย หากต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสสิ่งเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีลดความเสี่ยง

-    หากพบว่าคนในครอบครัวมีอาการที่เป็นสัญญาณบ่งบอกโรคนี้ ให้รีบไปปรึกษาแพทย์ทันที

-    สำหรับผู้ป่วย ALS เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ควรไปปรึกษานักประสาทวิทยา นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ นักกิจกรรมบำบัด นักสังคมสงเคราะห์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต

รู้จัก “ALS – ไทรอยด์เป็นพิษ” โรคร้ายคร่าชีวิต \"แม่ทุม-ปทุมวดี เค้ามูลคดี\"

โรคไทรอยด์เป็นพิษ

ต่อมไทรอยด์ เป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายและมีความสำคัญอย่างมาก ต่อมนี้มีหน้าที่สำคัญคือการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย แถมยังมีส่วนช่วยในการควบคุมกระบวนการเผาผลาญต่างๆ กระตุ้นการเต้นของหัวใจ รักษาอุณหภูมิในร่างกายและการหลั่งเหงื่อ เรียกได้ว่าดูแลระบบทั่วร่างกาย หากต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ มีภาวะของต่อมไทรอยด์โต ก็จะส่งผลให้ร่างกายแปรปรวนอย่างมาก

 

ไทรอยด์เป็นพิษคืออะไร

ไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism, Overactive Thyroid) คือภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนออกมามากเกินไป ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานมากขึ้น เป็นสาเหตุทำให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วแบบผิดปกติ หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ เหงื่อออกง่าย และหงุดหงิด ฉุนเฉียว เป็นต้น ซึ่งโรคไทรอยด์อาจแบ่งได้เป็น 2 อย่างใหญ่ ดังนี้

 

ไฮเปอร์ไทรอยด์

คือโรคไทรอยด์ที่มีระดับการทำงานของต่อมไทรอยด์มากเกินไป ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดสูงเกินไป มีการทำงานของเซลล์ในร่างกายเร็วกว่าปกติ อาการที่ส่งผลต่อร่างกายก็คือ น้ำหนักลดลงผิดปกติ ขี้ร้อน เหงื่อออกมาก เหนื่อย มีประจำเดือนน้อยลง ความจำไม่ดี กระสับกระส่าย ขาดสมาธิ ผมร่วง หัวใจเต้นผิดจังหวะ ท้องเสีย ผิวเป็นด่างขาว มือสั่น แขนขาไม่มีแรง ตาโปน ต่อมไทรอยด์โต เป็นปื้นหนาที่ขา


ไฮโปไทรอยด์

คือโรคไทรอยด์ที่มีระดับการทำงานของต่อมไทรอยด์ที่น้อยเกินไป ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดต่ำเกินไป มีการทำงานของเซลล์ในร่างกายช้ากว่าปกติ อาการที่ส่งผลต่อร่างกายคือ น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขี้หนาว ง่วงนอน อ่อนเพลีย ผมร่วง ผิวแห้ง ซึมเศร้า เป็นตะคริวง่าย หัวใจเต้นช้า ท้องผูก รอบตาบวม หน้าบวม ตัวบวม ต่อมไทรอยด์โต

 

วิธีตรวจต่อมไทรอยด์ด้วยตัวเอง

-    ส่องกระจก ยืดลำคอขึ้น หันทางซ้ายและขวาช้าๆ เพื่อหาความผิดปกติบริเวณลำคอ

-    ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางของมือทั้งสองข้างคลำลำคอพร้อมๆ กันในแต่ละด้าน จากด้านหลังไปด้านหน้า และจากบนลงล่าง

-    หากผมการสัมผัสที่ติดขัดเหมือนมีก้อน... ให้ลองคลึงดู

-    หากพบก้อนผิดปกติให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ

 

การรักษาโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ

-    กินยา ยาที่ใช้ในการรักษาโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษคือยาที่ออกฤทธิ์สกัดกั้นการสังเคราะห์ฮอร์โมนไทรอยด์ (ยาต้านไทรอยด์) ซึ่งจะช่วยให้อาการต่างๆ ที่เกิดจากการเผาผลาญในร่างกายที่สูงเกินไปหายไป เช่น อาการใจสั่น เหนื่อย น้ำหนักลด

-    กินไอโอดีน-131 ไอโอดีน-131 เป็นสารกัมมันตรังสีของธาตุไอโอดีนที่ผลิตขึ้นโดยผ่านธาตุไอโอดีนเข้าไปในเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู เมื่อทิ้งไว้ ไอโอดีน-131 จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นไอโอดีน-128 ในกระบวนการเปลี่ยนนี้จะปล่อยกัมมันตรังสีที่สามารถทำลายเซลล์ออกมา เมื่อผู้ป่วยกินเข้าไป ต่อมไทรอยด์ที่ถูกทำลายจะมีขนาดเล็กลง และอาการต่อมไทรอยด์เป็นพิษจะค่อยๆ ดีขึ้น

-    ผ่าตัด การผ่าตัดเป็นวิธีรักษาแบบดั้งเดิม แพทย์จะทำการผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ที่เป็นพิษออกไปบางส่วนเพื่อทำให้ต่อมไทรอยด์มีขนาดเล็กลง จะได้ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาน้อยลง วิธีนี้ช่วยให้อาการต่างๆ หายไปอย่างรวดเร็ว

 

ถึงแม้ว่าการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดจะเป็นวิธีที่ได้ผลเร็ว แต่กลับได้รับความนิยมลดลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง รวมถึงผู้ป่วยไม่อยากเจ็บตัวและไม่ชอบนอนโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงต่อการมีฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาจากต่อมไทรอยด์มากเกินไปในระหว่างที่ทำการผ่าตัด ซึ่งอาการไทรอยด์เป็นพิษอย่างรุนแรงนี้ทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ การรักษาโรคนี้จึงควรรับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวขาญโดยตรง 

 

ซึ่งปัจจุบัน มีนวัตกรรม “การผ่าตัดไทรอยด์ผ่านกล้องทางช่องปาก” ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดี เพราะเป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็ก และขณะทำการผ่าตัดก็ทำได้ใกล้กับตำแหน่งของต่อมไทรอยด์มากที่สุด จึงทำให้มีความเสี่ยงน้อย เสียเลือดน้อย ใช้เวลาน้อยกว่าในการรักษา ผู้ป่วยฟื้นตัวไวทำให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น

 

ที่มา พบแพทย์ดอทคอม และ โรงพยาบาลพญาไท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อาลัย "แม่ทุม - ปทุมวดี เค้ามูลคดี" เสียชีวิตแล้ว หลังต่อสู้อาการป่วยนาน 8 ปี

เปิดประวัติ “แม่ทุม- ปทุมวดี เค้ามูลคดี” อาลัย “ดาวค้างฟ้า” บันเทิงไทย