ประกันสังคม ชี้แจงประเด็นการลงทุนและผลตอบแทน กรณีถือหน่วยลงทุนของทรัสต์ เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โรงแรมศรีพันวา (SRIPANWA) ในสัดส่วนเป็นผู้ถือหน่วยรายใหญ่ แจงเริ่มลงทุนตั้งแต่ปี 2556 มูลค่าการลงทุนประมาณ 505 ล้านบาท เป็นไปตามมูลค่าตลาดใน ณ ปัจจุบัน เผยกองทุนมีเงินเพียงพอจ่ายบำนาญในระยะยาวให้กับลูกจ้าง ผู้ประกันตน ยอดเงินปันผลและกำไร จากการขายรวมทั้งสิ้น 232.62 ล้านบาท
นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม ในฐานะรองโฆษกสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวกรณีการถือหน่วยทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โรงแรมศรีพันวา (SRIPANWA) ของสำนักงานประกันสังคมว่า ปัจจุบันการถือหน่วยทรัสต์เพื่อการลงทุน ในอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 505 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามมูลค่าตลาดเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2563 ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID – 19
ข่าวเกี่ยวข้อง
“ปลาวาฬ”ไม่หวั่น“ศรีพันวา ภูเก็ต”ถูกรีวิวลดเหลือ 1.8 ดาว
ประกันสังคมลงทุนใน"ศรีพันวา" แค่ 500 ล้าน กำไรกว่า200ล้าน
สำหรับเงินปันผลที่ได้รับแล้ว ไม่ได้เพิ่งได้รับเมื่อปี 2560 ที่เป็นข้อมูลการจ่ายเงินของกองทรัสต์ แต่สำนักงานประกันสังคมลงทุนมา ตั้งแต่ปี 2556 ที่ตั้งเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่ปี 2556 - 2559 ได้เงินปันผลเท่ากับ 77.57 ล้านบาทและเงินปันผลหลังจากแปลงสภาพเป็นทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โรงแรมศรีพันวา (SRIPANWA) ระหว่างปี 2560 – 2562 จำนวน 144.09 ล้านบาท และในต้นปี 2563 ยังได้เงินปันผลมาอีก 7.13 ล้านบาท รวมเป็นเงินปันผลรวม 228.79 ล้านบาท
นอกจากนี้ระหว่างการลงทุนสำนักงานประกันสังคมมีการขาย ได้รับกำไรประมาณ 3.83 ล้านบาท ทำให้สำนักงานประกันสังคมมีเงินสดรับในรูปแบบเงินปันผลและขาย ทำกำไรรวมทั้งสิ้น 232.62 ล้านบาท
รองโฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า การลงทุนในทรัสต์เพื่อการลงทุน ในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ของสำนักงานประกันสังคมเป็นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่หวังผลตอบแทน ในรูปเงินปันผลระยะยาวและเป็นการกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์อีกหนึ่งประเภท ซึ่งเป็นลักษณะการลงทุนของกองทุนบำนาญระดับโลกทั่วไป เพื่อสร้างรายได้ให้กับกองทุนและทำให้กองทุนมีเงินเพียงพอจ่ายบำนาญ ในระยะยาว
โดยแต่ละการลงทุนของสำนักงานประกันสังคมมีผู้จัดการกองทุนและนักวิเคราะห์การลงทุน ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญให้คำแนะนำ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์การลงทุนของสำนักงานประกันสังคมอย่างเคร่งครัด จึงขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจในการบริหารกองทุน และการสร้างผลตอบแทนให้กับกองทุน ว่าจะเป็นไปอย่างมืออาชีพ และสร้างความมั่นคงให้แก่กองทุนประกันสังคม สามารถรองรับค่าใช้จ่าย ในการดูแลและพัฒนาสิทธิประโยชน์กลับคืนสู่ผู้ประกันตนทั้งในปัจจุบันและอนาคตต่อไป