วันนี้ (8 ต.ค.) บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” เพื่อกระตุ้นการบริโภค โดยสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท มีลักษณะเดียวกันกับโครงการช้อปช่วยชาติที่เคยออกมาก่อนหน้านี้ในช่วงปลายปี 2558-2561 โดยมาตรการช้อปช่วยชาติในช่วงก่อนหน้านี้กำหนดวงเงินที่สามารถลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท โดยมาตรการช้อปดีมีคืน ต้องใช้จ่ายในช่วง 23 ต.ค. – 31 ธ.ค.63 คิดเป็นระยะเวลา 70 วัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดมาตรการใหม่ “ช้อปดีมีคืน” ลดหย่อนภาษีได้
ใจไม่ถึง! ”ช้อปดีมีคืน” ได้ 3 หมื่นบาท NEWSROOM 08-10-63
กลุ่มค้าปลีกขยับขึ้นยกแผง ขานรับ"ช้อปดีมีคืน"
เทียบสิทธิ์ “ช้อปดีมีคืน” กับ “คนละครึ่ง” แบบไหนคุ้มกว่า
คาดว่าน่าจะช่วยกระตุ้นการบริโภคในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ และ หากรวมกับมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลออกมา ไม่ว่าจะเป็นมาตรการคนละครึ่ง และ มาตรการเติมเงินสวัสดิการเพิ่มอีกเดือนละ 500 บาทให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงการทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยว จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 มีแนวโน้มดีขึ้นและหดตัวลดลงเมื่อเทียบกับ 2 ไตรมาสก่อนหน้า
ทั้งนี้ มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” น่าจะช่วยให้เกิดการระบายสินค้าคงคลังที่มีอยู่สูง อีกทั้งจะช่วยผลักดันยอดขายและเพิ่มสภาพคล่องของผู้ประกอบการต่างๆ ให้ดีขึ้น นอกจากนี้ การจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้นจะช่วยสร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ดี ส่งผลให้ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น โดยในภาพรวมภาคค้าปลีกน่าจะได้รับผลประโยชน์จากมาตรการนี้มากที่สุด ในขณะที่ยอดใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นน่าจะส่งผลดีต่อภาคธนาคาร เนื่องจากยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตน่าจะขยายตัวมากขึ้น
อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวคาดว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้เพียงชั่วคราว และ คงมีผลประโยชน์ต่อการจ้างงานค่อนข้างจำกัด เนื่องจากผู้ผลิตอาจจะยังไม่พิจารณากลับมาผลิตเพิ่ม หากอุปสงค์ยังไม่กลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องขณะที่ผู้ได้รับประโยชน์ส่วนใหญ่น่าจะเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่อยู่ในระบบภาษี ในขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) อาจไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงเท่าใดนัก
ขณะที่การฟื้นตัวของการบริโภคหลังจากที่มาตรการหมดลงไปแล้วคงกลับมาขึ้นอยู่กับแรงขับเคลื่อนพื้นฐานของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยว รายได้จากการจ้างงาน และรายได้ภาคการเกษตร เป็นสำคัญ ซึ่งท่ามกลางความเสี่ยงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดและสถานการณ์เศรษฐกิจโลก คาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายในระยะข้างหน้า