กรมอุตุนิยมวิทยา กรมควบคุมมลพิษ กรมอนามัย และกทม. ร่วมแถลงข่าวสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 โดยนายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า เนื่องจากความกดอากาศต่ำ ไม่มีลมพัด ทำให้มีปริมาณฝุ่นละอองสะสมหนาแน่น ซึ่งอีก 1-2 วันจะมีความกดอากาศสูงแผ่เข้ามาจะช่วยให้มีลมพัดฝุ่นละอองให้กระจายตัวออกไป โดยมวลอากาศหนักดังกล่าวมักเกิดขึ้นในช่วงหน้าหนาวทุกปี ซึ่งจะได้ประสานกับกรมควบคุมมวลพิษเพื่อออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังเรื่องสุขภาพ
ส่วนการทำฝนเทียมเพื่อนแก้ไขปัญหานั้น ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตรคงจะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ที่เหมาะสมจึงจะสามารถดำเนินการได้
ขณะที่นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ได้มีการเตรียมความพร้อมในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ล่วงหน้า 2 เดือนแล้ว โดยกำหนดมาตรการป้องกันไว้ 12 ข้อ เรียงลำดับจากเบาไปหาหนัก ซึ่งหลังเกิดสถานการณ์รุนแรงในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมาที่มีปริมาณ PM2.5 สะสมหนาแน่นในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการที่วางไว้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จับตาพายุโซนร้อนลูกใหม่ ภาคใต้ตอนล่างฝนตกหนักถึงหนักมาก 23 ธ.ค.นี้
ฝุ่น PM 2.5 กรุงเทพฯ-ปริมณฑลเช้านี้ มีผลกระทบต่อสุขภาพหลายพื้นที่
กทม.สำลักฝุ่น PM2.5 ขึ้นอันดับ 6 ของโลก
นอกจากนี้ เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ทำให้เกิดการสะสมของปริมาณ PM2.5 หนาแน่น ซึ่งจะมีการกวดขันเรื่องรถยนต์ดีเซลที่ปล่อยควันดำ การเผาในที่โล่งแจ้งในจังหวัดโดยรอบของกรุงเทพฯ และปริมณฑล
"ช่วงวันที่ 14-17 ธันวาคม หากสถานการณ์ไม่คลี่คลาย ก็จะขยายเวลาใช้มาตรการต่างๆ ออกไป" นายอรรถพล กล่าว
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ความสำเร็จของการดำเนินมาตรการต่างๆ คงต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชน โดยในระยะสั้นจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ได้
ด้าน ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้อยู่ในระดับ 2 มีปริมาณ PM2.5 อยู่ที่ 74.6 ไมโครกรัม/ตารางเมตร กทม.จึงได้ยกระดับมาตรการเพิ่มมากขึ้น โดยการบังคับใช้กฎหมายควบคุมไม่ให้มีการเผาในพื้นที่ โดยให้สำนักงานเขตพื้นที่และเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบ กวดขัน การออกหน่วยสาธารณสุขให้บริการประชาชนในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นสูง
ในส่วนของกิจกรรมก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น อาคาร, รถไฟฟ้า หรือการก่อสร้างอื่นที่ทำให้เกิดฝุ่น การถมดิน การขนย้ายอุปกรณ์ จะประสานเจ้าของกิจการให้งดดำเนินการ ยกเว้นการตกแต่งภายในยังคงสามารถทำได้จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ส่วนสถานการณ์ในขณะนี้ หากจะมีการสั่งปิดโรงเรียนก็ให้เป็นอำนาจของผู้อำนวยการสำนักงานเขตในแต่ละพื้นที่ที่ประสบเหตุสามารถพิจารณาได้ตามความเหมาะสม
ทั้งนี้ กทม.ได้เตรียมการล่วงหน้ามาแล้ว 2 เดือน โดยคาดว่าจะเกิดปัญหาดังกล่าวในช่วงเดือน ธ.ค.63-ก.พ.64
"ถ้าปริมาณ PM2.5 เกิน 75 ไมโครกรัม/ตารางเมตร รุนแรงระดับที่ 3 ผู้ว่าฯ กทม.จะใช้มาตรการเข้มงวดมากขึ้น เช่น ห้ามก่อสร้างรถไฟฟ้า 7 วัน กวดขันควันดำรถทัวร์ กวดขันการจอดติดเครื่องยนต์ เหลื่อมเวลาทำงาน และสั่งปิดโรงเรียน แต่หากสถานการณ์คลี่คลายก็จะปรับลดมาตรการลงเป็นลำดับ" ร.ต.อ.พงศกร กล่าว
สำหรับการฉีดพ่นน้ำเพื่อลดปริมาณ PM2.5 นั้น มี 4 แนวทาง คือ การฉีดพ่นล้างใบไม้เพื่อล้างฝุ่น, การฉีดพ่นล้างถนน, การฉีดพ่นดักฝุ่นในพื้นที่ก่อสร้าง และการฉีดพ่นจากบนอาคารเพื่อดักฝุ่น PM10 ที่จะกลายเป็น PM2.5
ด้านนายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาดังกล่าวให้หมดไปคงเป็นเรื่องยาก เนื่องจากมีหลายปัจจัย ได้แก่ รถดีเซลที่ใช้น้ำมันที่มีปริมาณกำมะถันสูง การเผาในพื้นที่ด้านเหนือกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เช่น พระนครศรีอยุธยา ควันไฟจะถูกลมพัดมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ หรือแถบจังหวัดสมุทรสาครที่มีมวลอากาศหนัก
โดยสถานการณ์จะมีความรุนแรงในช่วงเช้าและเย็นจากปริมาณจราจรที่คับคั่ง ดังนั้นสถานการณ์จะดีจะขึ้น หากสามารถลดปริมาณจราจรได้ เช่น การใช้ระบบขนส่งสาธารณะ การทำงานที่บ้าน
"ปัญหานี้จะหมดไปได้คงต้องใช้เวลา 1-2 ปี ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบาย เหมือนในอดีตที่เคยแก้ปัญหาเรื่องปริมาณตะกั่ว ปัญหาคาร์บอนมอนน็อกไซด์ ซึ่งปัจจุบันลดลงมามากแล้ว และหากดูปริมาณเฉลี่ยทั้งปี เราทำเกือบได้ตามมาตรฐานสากล โดยปีที่แล้วอยู่ที่ 26 ไมโครกรัม/ตารางเมตร แต่เฉลี่ยปีนี้อยู่ที่ 36 ไมโครกรัม/ตารางเมตร" นายสุพัฒน์ กล่าว