วันที่ 22 ธ.ค. 63 เวลา 14.20 น. นางสาวรัชดา ธนาดิเรก โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบร่างกฎกระทรวงแรงงาน โดยให้มีผลวันที่ 19 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป เพื่อรองรับสถานการณ์การการระบาดของโควิด 19 ที่ทำให้แรงงานที่เป็นผู้ประกันตนต้องหยุดงาน และผู้ประกอบการไม่สามารถเปิดกิจการได้
ซึ่งเดิมรัฐบาลได้ให้กองทุนประกันสังคม จ่ายค่าจ้างในอัตรา 62% ของค่าจ้าง ให้กับผู้ว่างงานก่อนหน้านี้ ช่วงวันที่ 1 มีนาคม - -31 สิงหาคม 2563 วันนี้ครม.จึงมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง แรงงานอีกครั้ง เพื่อรองวับเหตุสุดวิสัยจากโควิด19 ที่ทำให้ผู้ประกันตนทำงานไม่ได้ และนายจ้างไม่สามารถประกอบการได้ตามปกติ โดยลูกจ้างมีสิทธิ์รับค่าจ้าง 50% ของอัตราค่าจ้าง ตลอดระยะเวลาที่สั่งปิดพื้นที่ โดยภายใน 1 ปี ปฏิทินแต่ไม่เกิน 90 วัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ครม.อนุมัติ เพิ่ม "เงินสงเคราะห์บุตร" เป็น 800 บาท/เดือน เริ่ม 1 ม.ค. 64
ซึ่งกระทรวงแรงงานคาดว่าจะช่วยบรรเทาความเเดือดร้อนของผู้ประกันตนที่เสี่ยงปิดพื้นที่ เช่น สมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม นครปฐม นนทบุรี และกทม. คาดว่าจะมีประมาณจำนวน 5.7 ล้านคน คิดเป็นเงินจากกองทุนประกันสังคมกว่า 5 พันล้านบาท เป็นการให้ความมั่นใจว่าถ้ามีการปิดกิจการชั่วคราวก็พร้อมดูแลเยียวยาจากสถานการณ์โควิด
นอกจากนี้ครม.ยังเห็นชอบกฎกระทรวงอีก 2 ฉบับ ในเรื่องของการลดจ่ายเงินค่าสมทบสำหรับลูกจ้างและนายจ้างจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 3 เป็นระยะเวลา 3 เดือน หรือ มกราคม – มีนาคม 2564 และการจ่ายเงินเด็กแรกเกิดจาก 600 บาท เป็น 800 บาท และค่าคลอดบุตร จาก 13,000 บาท เป็น 15,000 บาท
สำหรับร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญคือ
1.กำหนดให้กฎกระทรวงฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป
2.กำหนดนิยามคำว่า “เหตุสุดวิสัย” หมายถึง ภัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณชน และถึงขณะที่ผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ
3.กำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยและหน่วยงานของรัฐสั่งปิดพื้นที่ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตราย อันส่งผลให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ให้ลูกจ้างดังกล่าวมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน ตามมติคณะกรรมการประกันสังคม โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่สั่งปิดพื้นที่ ทั้งนี้ ภายในระยะเวลา 1 ปีปฏิทิน จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนดังกล่าวทุกครั้ง แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 90 วัน
นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการประเมินสถานการณ์ของกระทรวงแรงงาน ร่างกฎกระทรวงนี้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนที่อยู่ในสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการที่รัฐบาลสั่งปิดกิจการ โดยในเบื้องต้นคาดว่ามีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ อาทิ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ราชบุรี และสมุทรสงคราม รวมกันแล้วประมาณ 5.7 ล้านคน คิดเป็นเงินกว่า 5,225 ล้านบาท