นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ได้รับทะเบียนตำรับยาจาก อย. อย่างไรก็ตาม อย. มีความพร้อมในการขึ้นทะเบียนวัคซีนในสถานการณ์เร่งด่วน โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการเพื่อให้ได้ข้อมูลที่จำเป็นและเพียงพอต่อการขึ้นทะเบียนตำรับยาโดยเร็วที่สุด และติดตามความคืบหน้าเป็นระยะ
อย่างไรก็ดีการที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งเปิดบริการรับจองวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่นำเข้าจากต่างประเทศนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า วัคซีนจัดเป็นยาตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ซึ่งการผลิตหรือนำเข้าวัคซีนเพื่อใช้ในประเทศไทยจะต้องขึ้นทะเบียนกับ อย. ก่อน แม้ว่าจะผ่านการขึ้นทะเบียนจากต่างประเทศแล้วก็ตาม
เนื่องจาก อย. ต้องประเมินทางวิชาการว่าวัคซีนนั้นมีคุณภาพ ปลอดภัย และป้องกันโรคได้ ซึ่งหลักการดังกล่าวเป็นหลักการสากลที่ทุกประเทศดำเนินการ เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนในประเทศจะได้รับยาที่ปลอดภัย ทั้งนี้ขอประชาชนอย่าได้กังวล คนไทยต้องได้ใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีคุณภาพมาตรฐานและที่สำคัญต้องมีความปลอดภัยอย่างแน่นอน
ขณะที่เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า กรณีที่โรงพยาบาลเอกชนโฆษณาเปิดจองวัคซีนทางเว็บไซต์ เข้าข่ายกระทำผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ฐานโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะนี้ อย. ได้สั่งระงับการโฆษณาขายยาดังกล่าว และมีหนังสือแจ้งทางโรงพยาบาลมาเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 100,000 บาทแล้ว
ทั้งนี้ วัคซีนไม่ใช่สินค้าทั่วไปที่ประชาชนจะหาซื้อมาใช้เอง การพิจารณาว่าผู้ใดควรฉีดวัคซีนหรือไม่ ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะมีโอกาสที่จะเกิดการแพ้ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และต้องมีการประเมินความปลอดภัยของวัคซีนอย่างรอบด้านทั้งก่อนและหลังการฉีด ดังนั้น ประชาชนโปรดอย่าหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาใช้เอง ขณะนี้ภาครัฐได้ดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพโดยเร็วที่สุด ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นและรับข่าวสารที่ถูกต้องจากภาครัฐเท่านั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อย.สั่งเบรก รพ.ดัง เปิดจองวัคซีนโควิด-19
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ใครฉีดได้-ใครบ้างที่ห้าม
"อย.สหรัฐ" ไฟเขียวใช้วัคซีน 'ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค' ในประเทศตัวแรก