ครม.เคาะ เพิ่มเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษ รับสูงสุด 9,100 บาท/ปี

12 ม.ค. 2564 | 08:30 น.

ครม.เคาะ เพิ่มเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษ ม.ปลาย-อาชีวะ รับเพิ่มสูงสุดอีกปีละ 6,100 บาท เป็น 9,100 บาทต่อปี

12 มกราคม 2564 นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.ได้เห็นชอบให้เพิ่มอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (ทุนเสมอภาค) โดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กสศ.ระบุว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ส่งผลให้ครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษมีรายได้ลดลงและเกิดการว่างงาน ประกอบกับผลวิเคราะห์จากโครงการวิจัยพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ มีข้อเสนอว่า อัตราเงินทุนเสมอภาคในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษ 

 

ดังนั้น จึงเห็นควรให้เพิ่มอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างนักเรียนจากครอบครัวที่มีรายได้แตกต่างกัน และป้องกันความเสี่ยงในการหลุดออกจากระบบการศึกษาของประชากรกลุ่มนี้ในระยะยาว

สำหรับ อัตราเงินอุดหนุนใหม่ มีดังนี้ คือ

 

ระดับอนุบาล อัตราเดิม  4,000 บาทต่อปียังคงจ่ายเท่าเดิม 

 

ระดับประถมศึกษา อัตราเดิม 3,000 บาทต่อปี  อัตราใหม่ 5,100 บาทต่อปี เพิ่มขึ้น 2,100 บาท 

 

ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น อัตราเดิม 3,000 บาทต่อปี อัตราใหม่ 4,500 บาทต่อปี เพิ่มขึ้น 1,500 บาท

 

ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/อาชีวศึกษา อัตราเดิม 3,000 บาทต่อปี อัตราใหม่ 9,100 บาท เพิ่มขึ้น 6,100 บาท

ทั้งนี้ ตามนิยามของเด็กนักเรียนยากจนพิเศษ จะหมายถึง นักเรียนยากจนที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ด้วยวิธีการวัดรายได้ทางอ้อมแบบ PMT หรือ Proxy Means Test จากระบบปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอยู่ในกลุ่มค่าคะแนนความยากจนอยู่ในเกณฑ์ยากจนพิเศษ หรือ ครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ย 1,200 บาทต่อคนต่อเดือน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ สั่ง “เยียวยารอบ2” จ่าย 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน

เยียวยารอบ 2 ครม.อนุมัติลดค่าไฟฟ้า – น้ำประปา 2 เดือน

"รมต.สาธิต" เผย ครม.ไฟเขียว "เลือกตั้งเทศบาล" 21 มี.ค.