20 มกราคม 24 ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เล่าถึงการทำงานในคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบการใช้เงินกู้ 1.9 ล้านล้าน ตาม พ.ร.ก. 3 ฉบับ ในการแก้ปัญหาผลกระทบจากโควิด 19 ว่า เป็นไปด้วยความกดดันจากปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มธุรกิจ SME ที่ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากทางภาครัฐได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งทาง กมธ. ต้องดำเนินการในเรื่องนี้ให้ทันท่วงทีแต่รายละเอียดตามพระราชกำหนด 5 แสนล้านเกี่ยวกับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีข้อจำกัดในการให้ความช่วยเหลือบรรดา SME เหล่านั้น และกรอบกติกาของสภาผู้แทนราษฎรก็ทำให้คณะ กมธ. ตรวจสอบเงินกู้ 1.9 ล้านล้าน ไม่สามารถทำอะไรได้มากนักในเรื่องนี้
“ผมในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบการใช้เงินตาม พ.ร.ก.ผลกระทบโควิด 19 ทราบดีว่า “ความเร็ว” เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการแก้ปัญหา SME ด้วยเหตุผลนี้ จึงพยายามที่จะเรียกทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาพูดคุยกัน ทั้งธนาคารพาณิชย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง รวมไปถึงผู้แทนทางฟากฝั่งของ SME เพื่อหาทางออกจากปัญหาสภาพคล่องทางการเงินด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในวงเงิน 5 แสนล้านบาทที่ไม่สามารถไปถึง SME ขนาดเล็กได้ คำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ก็คือ ธนาคารพาณิชย์กังวลว่า ปล่อยกู้แล้วจะกลายเป็นหนี้เสีย (NPL) ส่วนทาง ธปท. ยืนยันมาตรการนี้ต้องทำผ่านกลไกสถาบันการเงินเท่านั้น
และกระทรวงการคลังชี้แจงว่า พรก. ที่รัฐบาลทำออกมาบังคับให้ต้องเป็นเช่นนี้ รวมไปถึงข้อจำกัดอื่นๆ ที่ทยอยแจกแจงออกมาอีกมากมาย ซึ่งสรุปรวมความง่ายๆ ว่า กฎหมายไม่อนุญาตให้ทำ ถ้าทำปัญหาจะตกอยู่ที่หน่วยงานของเขา เช่นเดียวกับคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่ผมทำหน้าที่ดังกล่าวนี้ ซึ่งประธาน กมธ. ได้ตีกรอบการทำหน้าที่ตามระบบของสภาฯ อย่างเคร่งครัด จนกรรมาธิการหลายท่านรวมถึงผมที่พยายามหาทางแก้ปัญหานี้ในแบบ “นอกกรอบ” ไม่สามารถขับเคลื่อนให้สำเร็จได้ดั่งใจนัก”
แต่รองประธาน กมธ. วิสามัญตรวจสอบการใช้เงินโควิด 19 ท่านนี้ก็ได้เปิดเผยถึงทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้น หลังจากได้ร่วมพูดคุยกับกลุ่ม SME และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง จนทางกมธ.สรุปเป็นข้อเสนอในการแก้ไขเนื้อหาใน พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้าน ไปยังสภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการ
“ข้อเสนอจากทางพวกเรา กมธ. ในเรื่องการขอแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟโลนท์ 5 แสนล้านบาท ออกมาภายหลังจากได้ร่วมปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันอีกครั้ง เนื้อหาสำคัญก็คือ การขยายข้อจำกัดของปัญหาที่ได้รับฟังมาจากผู้ประกอบการ SME รวมไปถึงการสร้างความเชื่อมั่นที่มากยิ่งขึ้นให้แก่กลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่จะดำเนินการในเรื่องของการออกสินเชื่อให้แก่ทางภาคธุรกิจ (เอกชน) โดยจะดำเนินการผ่านทางสภาผู้แทนราษฎร เพื่อออกเป็นพระราชบัญญัติแก้ไข พรก.เดิม
แน่นอนว่า ย่อมต้องใช้เวลานานหลายเดือน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ ดังนั้น เราจึงตัดสินใจส่งข้อเสนอตรงไปยังนายกรัฐมนตรีอีกทาง เพื่อนำเข้าประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรี เพื่อออกเป็นพระราชกำหนดแก้ไข พรก. เดิม ซึ่งสามารถทำได้ทันที และในช่วงเวลาดำเนินการนั้น ผมได้เสนอให้ทางบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้เข้ามาชวยคลี่คลายวิกฤตของ SME ขนาดเล็กแบบเฉพาะหน้าไปก่อน ด้วยสินเชื่อและมาตรการที่เหมาะสมต่อ SME ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด ซึ่งถือว่าเป็นการต่อลมหายใจเบื้องต้น ก่อนที่สินเชื่อ 5 แสนล้านจะได้รับการลดเพดานในการเข้าถึงลงหลังจากนี้”
อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ได้ทิ้งท้ายส่งความห่วงใยไปยัง SME และสร้างความเชื่อมั่นว่า จะดำเนินการเรื่องนี้ให้สำเร็จและเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ “ต้องอดทนนะครับ ผมยืนยัน ถ้าจะรอด เราต้องรอดไปด้วยกัน เสียงของพวกคุณ ผมรับฟัง และพยายามส่งต่อเสียงนั้นเท่าที่กำลังและอำนาจหน้าที่ที่มีจะทำได้อย่างแน่นอนครับ เพราะฉะนั้น จงอย่าหมดกำลังใจ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ครม.ปรับเกณฑ์-ขยายเวลาสินเชื่อเพื่อเอสเอ็มอี อีก 1 ปี
ธ.ก.ส.พักหนี้นาน1 ปี ช่วยเกษตรกรและเอสเอ็มอี"สินเชื่อกลุ่มใหม่" ใน 28 จ.
จุดบอด! SMEs 60% ไม่โกออนไลน์ เอไอเอสแนะปรับตัวสู้โควิด
"เยียวยาโควิดรอบ2" ครม.ขยายเวลาปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำช่วยเอสเอ็มอี -ผู้มีรายได้น้อย ถึงมิ.ย