โควิดขยะติดเชื้อพุ่ง คพ.รับมอบถุงแดง1,200ใบจาก โรงเรียนสาธิตจุฬา

11 พ.ค. 2564 | 12:14 น.

คพ. รับมอบถุงขยะติดเชื้อสีแดง 1,200ใบ จากนักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม เพื่อใช้ประโยชน์ในกิจกรรมรณรงค์คัดแยกมูลฝอยติดเชื้อ

 

 

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ระลอกใหม่ในเดือนเมษายนนี้ ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นรายวัน ล่าสุด กทม.มีการประเมินตัวเลขขยะติดเชื้อในกทม.เพิ่มมากกว่า 20 ตันต่อวัน โดยที่ผ่านมา คพ.ได้หารือกับ กทม.และจังหวัดต่างๆเพื่อให้ทำตามคู่มือการจัดการขยะติดเชื้อ โดยเฉพาะการทิ้งหน้ากากอนามัยจากครัวเรือนที่ยังพบส่วนใหญ่ทิ้งปะปนกับขยะบ้าน

โควิดขยะติดเชื้อพุ่ง คพ.รับมอบถุงแดง1,200ใบจาก โรงเรียนสาธิตจุฬา

โดยไม่คัดแยกทิ้งให้ชัดเจน ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการระบาดขึ้นได้ เพราะขยะติดเชื้อทั้งหน้ากากอนามัย ของใช้ที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งเมื่อไม่ได้ถูกแยกออก ก็จะทิ้งปะปนไปรถขยะและไปจบที่กองขยะ ทั้งนี้ ในภาพรวมขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาลสนาม และในโรงพยาบาลที่รักษาผู้ติดเชื้อ COVID-19 ทั้งใน กทม.และจังหวัดต่างๆ ไม่น่ากังวล เพราะขยะติดเชื้อทุกประเภทต้องนำเข้าระบบการจัดเก็บและกำจัดและมาตรฐานกำจัดขยะติดเชื้อ แต่ที่กังวลคือประชาชนทั่วไป ส่วนใหญ่ยังทิ้งรวมกับขยะปกติ

โควิดขยะติดเชื้อพุ่ง คพ.รับมอบถุงแดง1,200ใบจาก โรงเรียนสาธิตจุฬา

นายอรรถพล กล่าวว่า คพ. ได้รับมอบถุงขยะสีแดงจาก ดช.วรดร โกศลพิศิษฐ์กุล และ ดช.ธัญฑ์ กฤษณะเศรณี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ร่วมกับผู้ปกครอง จากการทำโครงการ มินิ ถุงแดง สำหรับครัวเรือนขนาดเหมาะสมสำหรับครัวเรือน 18X20 นิ้ว จำนวน 1200 ใบ เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึก และสร้างความตระหนักในการคัดแยกขยะมูลฝอยติดเชื้อ(หน้ากากอนามัย/ทิชชู ) ระดับครัวเรือนให้กับประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิด ซึ่งถือเป็นต้นแบบเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีจิตสำนึกและให้ความสำคัญต่อการคัดแยกขยะ โดยถุงขยะสีแดงดังกล่าวมีส่วนผสมเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ที่ได้จากการหมุนเวียนขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งกรมจะนำไปแจกจ่ายให้กับชุมชนในพื้นที่เขตพญาไท ในการแยกขยะมูลฝอยติดเชื้อ เพื่อให้ กทม.นำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ต่อไป

โควิดขยะติดเชื้อพุ่ง คพ.รับมอบถุงแดง1,200ใบจาก โรงเรียนสาธิตจุฬา

อยากขอความร่วมมือทุกครัวเรือนให้มีการทิ้งหน้ากากอนามัยแยกออกจากขยะทั่วไปต่างหาก โดยขอให้ม้วนด้านในที่สัมผัสกับปาก และนำสายรัดให้แน่นลงในถังเฉพาะ สัก 3-4 วันก็รวบรวมใส่ถุงพลาสติก และถุงที่ไม่เปียกน้ำง่าย มัดปากถุงให้แน่น เวลาจะทิ้งเขียนป้ายว่าเป็นขยะติดเชื้อ แยกรวบรวมใส่ถุงติดป้ายชัดเจนก่อนนำไปทิ้งในจุดรับทิ้งของกทม.1,000 จุด เพื่อช่วยลดการปนเปื้อนมูลฝอยติดเชื้อไปกับขยะทั่วไป ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน และประชาชน ในการร่วมมือกันคัดแยกขยะ แยกทิ้งให้ถูกถัง เพื่อป้องกันและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากมูลฝอยติดเชื้อ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และฝากให้น้องๆช่วยกันประชาสัมพันธ์ผ่านสื่ออนไลน์ เพื่อให้ทุกคนช่วยกัน นายอรรถพล กล่าว