เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบข้อเสนอแนวทางการจัดสรรกรอบอัตรากำลังและกลไกการบริหารจัดการพนักงานราชการเฉพาะกิจ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด19 จำนวน 1 หมื่นอัตรา โดยใช้งบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วน พ.ศ.2564 วงเงิน 2,254.32 ล้านบาท ตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เสนอ
รายละเอียด จ้างบัณฑิตจบใหม่ 10,000 อัตรา เป็นพนักงานราชการเฉพาะกิจ ดังนี้
1. สำเร็จการศึกษาที่จบปริญญาตรี จบใหม่
2. จ้าง 10,000 อัตรา เป็นพนักงานราชการเฉพาะกิจ
3. เงินเดือน 18,000 บาท
4. สัญญาจ้าง 1 ปี
5. บรรจุหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะส่วนภูมิภาค
6. รับสิทธิประโยชน์เท่าพนักงานราชการปกติ (ประกันสังคม)
“ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า พื้นฐานของการจ้างงานเพิ่ม 10,000 อัตราเป็นเรื่องที่ดีเพราะเด็กจบใหม่มีจำนวนหลายแสนคน ถือเป็นการช่วยเหลือจำนวนหนึ่งในเวลา 1 ปี เป็นการชั่วคราว
แต่คำถามคือจะทำอย่างไรเมื่อโควิดอาจยืดเยื้อต่อไปอีก รวมทั้งจะกระจาย 10,000 อัตราไปตามภูมิภาคอย่างไร จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องรอบคอบ มีหลักการที่ชัดเจนและมีเป้าหมาย
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยกตัวอย่างเช่น ใหนักศึกษาที่ได้รับการจ้างงานลงไปในภาคการเกษตรชุมชนเพื่อเข้าไปช่วยประชาชนในพื้นที่ช่วยสร้างมูลค่าของผลผลิต การตลาดออนไลน์ รวมทั้งยังสามารถช่วยแนะนำรูปแบบผลผลิตใหม่ๆ ทำให้ภาคเกษตรมีรายได้ นักศึกษาก็จะได้ความรู้และประสบการณ์นำไปต่อยอดอาชีพได้ด้วย 1 หมื่นคนที่ลงไปช่วยเหลือเกษตรกร จะกลายเป็นนวัตกรที่จะนำนวัตกรรมเข้าไปสู่พื้นที่
ส่วนเรื่องการจ้างงานต่อหลังจากที่หมดสัญญาจ้าง 1 ปี ไปแล้วโอกาสเป็นไปได้ยาก เพราะโครงสร้างของงบประมาณประจำเต็มอยู่ที่ 70 % แล้ว การไปเพิ่มพนักงานประจำจะทำให้รัฐต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นไปอีก แต่หากเกิดขึ้นจริงก็จะนำไปสู่เรื่องการปฎิรูปข้าราชการใหม่
“การช่วยลดการว่างงานเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ประเทศของเราไม่ได้ร่ำรวย ดังนั้นจึงต้องเพิ่มผลิตภาพควบคู่ไปด้วย เราต้องใช้เงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะเงินกู้ก้อนนี้อาจจะเป็นก้อนสุดท้ายแล้วก็ได้” ศ.ดร.กนกกล่าว
ด้าน “ดร.นณริฏ พิศลยบุตร” นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งสนใจศึกษาวิจัยโจทย์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย โดยเฉพาะมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยมุมมองที่มีต่อกรณีที่ ครม.เห็นชอบช่วยเหลือคนที่ตกงานที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 2,200 ล้านบาท โดยเป็นการเปิดรับผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจบใหม่ ว่า ปัจจุบันแรงงานจบใหม่ถือเป็นกลุ่มที่เปราะบาง เนื่องจากผลกระทบของโควิดที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน การแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อและมีความรุนแรงเป็นระยะ ทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง เห็นได้จากพฤติกรรมการเดินทางของประชาชนที่ลดลงมากในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา แม้จะไม่มีมาตรการล็อคดาวน์อย่างเป็นทางการ จึงทำให้มีตัวเลขการว่างของกลุ่มแรงงานจบใหม่ 4 กว่าแสนคน ยังไม่นับรวมกับกลุ่มเสมือนว่างงาน ซึ่งก็คือ กลุ่มที่ทำงานแต่ไม่ได้รับเงินเป็นค่าจ้างแต่รับเป็นสิ่งของแทน นั่นหมายความว่าประเทศไทยมีคนว่างงานจำนวนมาก
“ถามว่านโยบายนี้เป็นอย่างไร ก็คือว่าโอเค แต่รัฐบาลจะต้องทำให้เกิดความยั่งยืน มีระบบประเมินที่ดีว่าจะให้นักศึกษาเหล่านี้ไปไปทำงานในส่วนไหนที่จะเกิดประโยชน์ อยากให้เน้นคุณภาพโดยมองไปถึงความก้าวหน้าในอาชีพว่าถ้าหมดสัญญา 1 ปีแล้วจะไม่กลับมาตกงานอีก” ดร.นณริฏกล่าว
นอกจากนี้นักวิชาการ TDRI ยังเสนอแนวทางของปัญหาการว่างงานว่า รัฐควรหันมาพิจารณาการจ้างกลุ่มเหล่านี้ไปเทรนนิ่ง ไปฝึกอบรม เพื่อที่จะทำให้สามารถตอบโจทย์ตลาดแรงงานโดยเฉพาะหากประเทศต้องการที่จะพัฒนาอีอีซี แรงงานตกงานอาจจะเป็นแรงงานใหม่และฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ดี โครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ โดยภาครัฐและเอกชน (Co – payment) ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการอยู่แล้ว รวมทั้งโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย
ข้อมูลของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ หรือ สศช.) ได้เปิดเผยถึงภาวะสังคมไทยไตรมาสแรก ปี 2564 ไว้อย่างน่าสนใจว่า ผลกระทบของโควิดระลอกใหม่ ทำให้เกิดการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น มีผู้ว่างงานกว่า 7.6 แสนคน คิดเป็น 1.96% โดยเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ตั้งแต่เดือน ม.ค.เป็นต้นมา แม้ควบคุมการแพร่ระบาดได้ในช่วงเดือน มี.ค. แต่ก็มีการกลับมาระบาดซ้ำอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน
ทำให้ตำแหน่งงานอาจไม่เพียงพอจะรองรับนักศึกษาจบใหม่ โดยเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโต ต่ำกว่าเป้าหมาย จะทําให้ผู้ประกอบการเลื่อนการขยายตําแหน่งงานใหม่ออกไป กระทบกับการหางานของ นักศึกษาจบใหม่ในปี 2564 ประมาณ 4.9 แสนคน
ขณะที่โครงการจ้างงานกลุ่มผู้จบการศึกษาใหม่และแรงงานคืนถิ่นภายใต้ พ.ร.ก. เงินกู้ฯ ในปี 2563 ซึ่งมีระยะเวลาการจ้างงานประมาณ 12 เดือนกําลังจะสิ้นสุดลง อาจส่งผล กระทบต่อแรงงานภายใต้โครงการประมาณ 1.4 แสนตําแหน่ง
นอกจากนี้ยังมีเรื่องผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของแรงงาน เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ชั่วโมงการทำงานที่ลดลง 6 ไตรมาสติดต่อกัน และการว่างงานเพิ่มขึ้น สะท้อนว่าแรงงานมีรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ว่างงานจากผลกระทบจากโควิดมีแนวโน้มเป็นผู้ว่างงานระยะยาวมากขึ้น
ด้านกองบริหารข้อมูลตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน ประมาณการว่า ปี 2564-2565 จะมีนักศึกษาจบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน 283,432 ราย รวม 2 ปี กว่า 5.4 แสนคน และได้สำรวจนักศึกษาจบใหม่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศในปี 2562-2563 (first S-curve) ในระดับ ปวช./ปวส./ป.ตรี พบว่าในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารอยู่ที่ 21,478 คน อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 32,194 คน, เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 31,491 คน, ท่องเที่ยวในกลุ่มรายได้ดี 41,580 คน และยานยนต์สมัยใหม่ 76,285 คน ไม่รวมในส่วนของอุตสาหกรรมกลุ่ม new S-curve ในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, การบินและโลจิสติกส์, ดิจิทัล, หุ่นยนต์ และการแพทย์ครบวงจรที่คาดว่าจะมีผู้จบการศึกษาอีก 112,000 คน
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้เมื่อปีที่ผ่านมา ครม.อนุมัติเงินกู้จำนวน 10,629.6 ล้านบาทให้กับโครงการยกระดับเศรษฐกิจรายตำบล 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ โดยมีมหาวิทยาลัย 80 กว่าแห่ง และเครือข่ายในพื้นที่ เป็นหน่วยงานกลาง ดำเนินการผ่านทางกลไก นักศึกษาและประชาชนในพื้นที่ ที่ได้รับการจ้างงาน ตำบลละ 20 คน เข้าไปเพิ่มทักษะ ให้ความรู้ รวมถึงจัดเก็บข้อมูลในพื้นที่ ส่งให้กระทรวงการอุดมศึกษาฯ จัดทำเป็นฐานข้อมูลกลาง เชื่อมต่อกับโครงการ อื่นๆ ของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อต่อยอดพัฒนาและยกระดับความเป็นอยู่ระดับจังหวัดต่อไป
นอกจากนี้รัฐบาลยังสนับสนุนโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ โดยภาครัฐและเอกชน (Co – payment) ในการผลักดันให้เกิดการจ้างงานให้แก่นักเรียน นักศึกษาที่จบใหม่ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการมีงานทำแก่ประชาชนวัยทำงาน และบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาการว่างงาน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สำหรับโครงการดังกล่าว มีเป้าหมายการจ้างงาน 260,000 คน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – เดือนกันยายน 2564