ผ่ากองทุนบัตรทอง1.4 แสนล้าน ไขปริศนาปมตัดงบบรรจุข้าราชการใหม่

24 เม.ย. 2563 | 10:24 น.

เปิดงบบัตรทอง กองทุนสุขภาพแห่งชาติ 1.4 แสนล้าน พบตั้งค่าแรงค่าแรงของหน่วยบริการของรัฐในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เฉียเ 5 หมื่นล้าน ที่มาของการตัดงบ 2.4 พันล้านเป็นเงินเดือนข้าราชการใหม่

กรณีกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพออกมาคัดค้านการตัดงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือที่เรียกกันติดปากว่าโครงการบัตรทอง จํานวน 2,400  ล้านบาท เพื่อนําไปตั้งเป็นงบสํารองฉุกเฉินแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือเยียวยา และบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ตามร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. ...

หลายคนตั้งคำถามว่าการตัดงบประมาณดังกล่าวจะส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของผู้ใช้บริการบัตรทองในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหนือไม่ 

“ฐานเศรษฐกิจ”ตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบเอกสารฉบับหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ประกาศคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2563 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 ที่ลงนามโดยนายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น 

เอกสารฉบับนี้ระบุถึงรายละเอียดงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไว้อย่างชัดเจนว่าในหน้า 2 และ 3 ว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สําหรับผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2563 วงเงินรวม 140,769.12 ล้านบาท ประกอบด้วยรายการต่างๆ จํานวน 8 รายการ ดังนี้

1. บริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว

1.1 ค่าใช้จ่ายเพื่อบริการทางการแพทย์ต่างๆ 123,917.82 ล้านบาท

1.2 ค่าแรงของหน่วยบริการของรัฐในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 49,832.58 ล้านบาท

2. บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ 3,596.83 ล้านบาท

3. บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 9,405.41 ล้านบาท

4. บริการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง 1,037.56 ล้านบาท

5. ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสําหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 1,490.28 ล้านบาท

6. ค่าบริการสาธารณสุขสําหรับผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน 1,025.55 ล้านบาท 

7. ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสําหรับการบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจําครอบครัว 268.64 ล้านบาท

8. ค่าชดเชยวัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน (MMR) เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดในภาคใต้ปีงบประมาณ 2561-2562 จำนวน 27 ล้านบาท 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ข้อเท็จจริงตัดงบกองทุนหลักประกันสุขภาพกระทบสิทธิ์ “บัตรทอง”?

ก่อนหน้านี้นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ชี้แจงว่าการปรับลดงบประมาณของกองทุนสุขภาพแห่งชาตินั้นเป็นการปรับลดในส่วนของงบที่จัดสรรสำหรับเงินเดือนเจ้าหน้าที่กองทุนฯหรือบุคคลากร วงเงิน 50,000 ล้านบาท  (งบประมาณในส่วนของค่าแรงของหน่วยบริการของรัฐในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ตั้งไว้ 49,832.58 ล้านบาท)

การปรับลดดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบ บรรจุข้าราชการ "กระทรวงสาธารณสุข"จำนวน 4 หมื่นอัตราใหม่  จึงโอนวงเงินดังกล่าว 2,400 ล้านบาท มารองรับการจ่ายเงินเดือน สำหรับบรรจุบุคคลากร เป็นข้าราชการอัตราใหม่า  เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้วงการแพทย์

คำถามคือหากกระทรวงสาธารณสุขบรรจุข้าราชการเพิ่มเติมแล้ว ไม่ปรับลดงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในส่วนของค่าแรงของหน่วยบริการของรัฐในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ตั้งวงเงินเอาไว้ได้หรือไม่? 

ในประเด็นนี้นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เคยชี้แจงต่อคณะกรรมการกําหนดเป้าหมายและนโยบายกําลังคนภาครัฐ (คปร.) ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2563 ถึงการปรับลดงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาใช้ในการบรรจุข้าราชการใหม่จำนวน 40,897 อัตรา ซึ่งข้าราชการที่จะบรรจุใหม่ส่วนใหญ่ปัจจุบันมีสถานะเป็นบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้ว แต่มีสถานะเป็นเพียง ลูกจ้างชั่วคราว หรือพนักงานราชการ เท่านั้น

เมื่อกระทรวงสาธารณสุขจะบรรจุข้าราชการเพิ่มจึงต้องนําอัตราเงินเดือนของข้าราชการที่ปฏิบัติงานในหน่วยบริการมาหักออกจากเงินที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพตั้งวงเงินไว้สำหรับ ค่าแรงของหน่วยบริการของรัฐในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่องบดังกล่าวมาจ่ายเงินเดือนให้กับข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขที่จะบรรจุใหม่เพื่อเป็นการควบคุมค่าใช้จ่ายที่มีผลต่อการปรับลดกรอบอัตรากําลังพนักงานกระทรวงสาธารณสุขหรือลูกจ้างชั่วคราวด้วย

เนื่องจากตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 แม้ว่าจะกําหนดให้ ค่าใช้จ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นค่าใช้จ่ายที่รวมเงินเดือนและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของบุคลากร ที่ใช้ในการดําเนินการให้บริการ แต่ตามกฎหมายพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจําตําแหน่ง ของข้าราชการ พ.ศ. 2534 กำหนดว่าเงินที่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับ เฉพาะเงินส่วนที่ไม่รวมเงินเดือนและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรของหน่วยบริการของรัฐ ที่ได้รับจากเงินงบประมาณโดยตรง

ดังนั้นการโอนงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มารวมไว้ที่งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือ จําเป็นเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การโควิด-19

จึงเป็นเป็นงบประมาณตามข้อเสนอของปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นเงินเหมาจ่ายรายหัว (สปสช.) ในการจ้างบุคลากรจาก พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างชั่วคราว หรือพนักงานราชการหรือบุคลากรทางการแพทย์ มาบรรจุเป็นข้าราชการใหม่ ตามมติครม.เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 ไม่เกี่ยวกับงบประมาณค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในโครงการบัตรทองแต่อย่างใด