รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันนี้(5 พฤษภาคม 2563) กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) จะเสนอให้ ครม.พิจารณา แผนฟื้นฟู บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ทั้งระยะเร่งด่วน และระยะยาว
แผนการฟื้นฟูการบินไทยในระยะเร่งด่วน จะขอให้ครม.อนุมัติให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้การบินไทย วงเงิน 5.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินกู้จำนวนดังกล่าวส่วนหนึ่งจะนำมาชำระหนี้ที่ครบกำหนดชำระในปีนี้ ส่วนที่เหลือจะเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินงาน รวมถึงการจ่ายเงินเดือนพนักงาน
จากรายงานงบการเงิน การบินไทยและบริษัทลูก ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 พบว่า การบินไทยมีหนี้สินรวม 244,899.4 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีหนี้สินที่ถึงกำหนดชำระภายใน1 ปี วงเงินรวม 21,730.7 ล้านบาท
ประกอบด้วย เงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงิน 3,768 ล้านบาท เงินกู้ยืมระยะยาวจากกิจการที่เกี่ยวข้องกัน 1,624.6 ล้านบาท หนี้สินภายใต้เงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน 7,253 ล้านบาท หุ้นกู้ 9,085 ล้านบาท
ส่วนแผนฟื้นฟูการบินไทยระยะที่ 2 คือ การเพิ่มทุน 8 หมื่นล้านบาท และการปรับโครงสร้างบริษัทครั้งใหญ่ เพื่อให้การบินไทยกลับมาดำเนินธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง
รวมทั้งจะมีการพิจารณาลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังในการบินไทยลง จาก 51.03% เหลือ 49% เพื่อปลดการบินไทยออกจากสถานะของความเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยกระทรวงการคลังจะขายหุ้นออกไปราว 2% ให้กับกองทุนรวม วายุภักษ์ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เช่น ธนาคารออมสิน,ธนาคารกรุงไทย เพื่อให้การบริหารงานคล่องตัวมากขึ้น
ปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่การบินไทย 5 อันดับแรก ประกอบด้วย 1.กระทรวงการคลัง 51.03%, 2.กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) 7.56%, 3.กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) 7.56% ,4.บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 3.28% และ 5.ธนาคารออมสิน 2.13%
นอกจากการเพิ่มทุนแล้วการฟื้นฟูการบินไทยครั้งนี้ยังมีแผนปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ โดยจะแยกธุรกิจต่างๆของการบินไทย ออกมาเป็นบริษัทลูก ภายใต้การถือหุ้นของใหญ่ของการบินไทย ที่จะปรับสถานะป็นบริษัทโฮลดิ้ง
สำหรับ 4 ธุรกิจที่จะแยกออกมาเป็นบริษัทลูก ที่จะตั้งขึ้นมาใหม่ ได้แก่ ครัวการบิน,บริการภาคพื้น,คลังสินค้า(คาร์โก้),การซ่อมบำรุงอากาศยานหรือฝ่ายช่าง
ส่วนสายการบินไทยสมายล์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่การบินไทย ถือหุ้นอยู่แล้ว 100% ก็จะถูกเพิ่มบทบาทมากขึ้น โดยจะเข้ามาเป็นบริษัทหลักที่ดำเนินธุรกิจการบินรองรับธุรกิจของการบินไทย
ขณะเดียวกันจะมีการปรับลดพนักงานที่ ด้วยการเปิดโครงการสมัครใจให้ลาออก ซึ่งประเมินว่าอาจจะมีการลดจำนวนพนักงานลง 30% จากปัจจุบันที่การบินไทยมีพนักงานทั้งหมดราว 2.1 หมื่นคน
นอกจากนี้ยังมีแผนยกเลิกเส้นทางบินรวมกว่า 20 จุดบิน และลดจำนวนเครื่องบินลงเหลือ 64 ลำ จากปัจจุบันมีเครื่องบิน 82 ลำ โดยจะมีการขายเครื่องบินออกจากฝูงบินออกไป 18 ลำพร้อมทั้งยกเลิกแผนการจัดหาฝูงบินใหม่ 38 ลำ วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท