“อนุทิน” ขอเพิ่มงบ 1.4 หมื่นล้าน ยกระดับ “บัตรทอง”

26 พ.ค. 2563 | 01:50 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ค. 2563 | 08:59 น.

“อนุทิน”ของบเพิ่ม 1.4 หมื่นล้านบาท หวังยกระดับ “บัตรทอง” ชี้ ต้องดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการสุขภาพ ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด ประชาชนว่างงานแห่ใช้สิทธิ

ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2563 เมื่อวานนี้ (25 พฤษภาคม 2563) ที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานได้เห็นชอบข้อเสนอการขอรับงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับปี 2563-2564 จากผลกระทบกรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ภายใต้งบเงินกู้ 45,000 ล้านบาท ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ได้รับจัดสรรจากรัฐบาล

ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลให้การดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2563-2564 ต้องปรับงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อยกระดับการดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการสุขภาพ ท่ามกลางมาตรการเว้นระยะห่าง ซึ่งประชาชนต้องได้รับการดูแล แต่มาโรงพยาบาลน้อยลง รวมถึงกรณีประชาชน ซึ่งว่างงาน และหันมาใช้สิทธิ์บัตรทองในการดูแลสุขภาพ

โดยปีงบประมาณ 2563 ขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติมทั้งสิ้น ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท เพื่อสนับสนุนการบริการด้านสุขภาพ ซึ่งประชาชน จะต้องได้รับสิทธิ์การรักษาตามปกติ แต่ต้องไม่เสี่ยงกับโรคโควิด 19 จะมีการนำระบบ Telemedicine มาใช้ เพื่อลดการเดินทางของประชาชน เพิ่มหน่วยบริการเคลื่อนที่ นอกจากนั้นยังต้องดูแลคนไทยที่ตกงานซึ่งจะเข้ามาใช้สิทธิ์บัตรทองอีกกว่า 9 แสนคน คิดเป็นเงินกว่า 3.6 พันล้านบาท นายอนุทิน กล่าว

สำหรับงบประมาณที่ต้องขอรับจัดสรรจากรัฐบาลเพิ่มเติมทั้งสิ้น 14,845.42 ล้านบาท แยกเป็น บริการกรณีโควิด-19 จำนวน 11,474.72 ล้านบาท แยกเป็นงบที่เพิ่มเติมในปี 2563 จำนวน 2,122.41 ล้านบาท และปี 2564 จำนวน 9,352.31 ล้านบาท ครอบคลุมบริการส่งเสริม สุขภาพและป้องกันโรค ทั้งตรวจคัดกรองกลุ่มเป้าหมายตามมติคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กำหนด บริการโรงพยาบาลสนาม หรือใน Hospital Quarantel เฉพาะกรณีสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 และบริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

ส่วนบริการรักษาพยาบาลได้เพิ่มเติมงบบริการผู้ป่วยใน บริการโรงพยาบาลสนาม หรือใน Hospitel เฝ้าระวังการติดเชื้อก่อนกลับบ้าน และบริการรับส่งต่อผู้ป่วยของหน่วยบริการเฉพาะกรณีสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19

สนับสนุนนำร่องบริการสาธารณสุขทางไกลและระบบการแพทย์ทางไกล (Telehealth/Telemedicine) ในหน่วยบริการที่มีความพร้อม บริการส่งยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยที่บ้านทางไปรษณีย์เฉพาะผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง จำนวน 4,455.02 ล้านบาท แยกเป็นงบเพิ่มเติมในปี 2563 จำนวน 79.17 ล้านบาท และปี 2564 จำนวน 4,375.85 ล้านบาท

บริการด้านยาและเวชภัณฑ์สำหรับร้านยา หรือ “โครงการรับยาใกล้บ้าน” เพิ่มเติมจัดบริการในรูปแบบที่ 3 ให้ร้านยาสำรองยาเองร่วมกับองค์การเภสัชกรรม เพิ่มจำนวนบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในปี 2564 จากสถานการณ์โควิด-19 ที่คาดว่า จะมีความต้องการของกลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นประมาณ 2.36 ล้านราย จากเดิมที่มีจำนวน 4.16 ล้านราย

บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการนอกหน่วยบริการเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน ไม่ต้องเดินทางมารับบริการที่โรงพยาบาล โดยครอบคลุมรวมถึงบริการเจาะเลือดและขนส่งตัวอย่าง ประมาณการณ์ปี 2564 มีจำนวนบริการ 941,700 ครั้ง อัตราค่าบริการ 200 บาทต่อครั้ง เป็นงบประมาณ 188.34 ล้านบาท

เพิ่มเติมงบประมาณรองรับการเพิ่มจำนวนของผู้มีสิทธิบัตรทองจากภาวะว่างงาน โดยปี 2564 คาดว่าจะมีจำนวน 990,750 คน ย้ายมาจากสิทธิประกันสังคมเหตุว่างงาน ซึ่งได้คำนวณจากอัตราเหมาจ่ายรายหัวตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 จำนวน 3,719.23 บาทต่อผู้มีสิทธิ รวมเป็นงบประมาณที่ต้องเพิ่มเติม 3,684.82 ล้านบาท

ช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการกรณีโควิด–19 จำนวน 2 เท่าจากอัตราเดิม และจำนวนผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้น โดยปี 2563 ของบสนับสนุนเพิ่มเติม 60.47 ล้านบาท และปี 2564 ขอเพิ่มเติมอีก 87.39 ล้านบาท