การประชุมสภาผู้แทนราษฏร ที่มีการอภิปราย “พรก.เงินกู้” 3 ฉบับ และส.ส.ฝ่ายค้าน ได้พาดพิงไปถึง “โครงการไทยเข้มแข็ง” ในสมัยรัฐบาลที่พรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำ มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกฯ ทำให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและดูแลโครงการดังกล่าวในขณะนั้น ออกมาชี้แจงเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และ”สอนมวย”ฝ่ายค้านถึงการทำหน้าที่ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการติดตาม “พรก.เงินกู้” ของรัฐบาลปัจจุบัน
นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรวม.คลัง ว่าที่หัวหน้าพรรคกล้า ได้ชี้แจงผ่านเพจ Team-Korn Chatikvanij ว่า จำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ชี้แจงกรณีพาดพิง "ไทยเข้มแข็ง"จากรัฐสภา
นายกรณ์ ระบุว่า เมื่อวานนี้มีส.ส.พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายพาดพิงโครงการ “ไทยเข้มแข็ง” ที่ผมเป็นผู้ดูแลโดยตรงเอาไว้ ผมขออนุญาตใช้สิทธิพาดพิงชี้แจงในพื้นที่ตรงนี้ครับ
ข้อเท็จจริง #ไทยเข้มแข็ง
- งบประมาณปี 51 ที่จัดทำโดยรัฐบาลชุดก่อน เงินคงคลังปิดหีบไม่ลง
- รายได้ประเทศจากภาวะวิกฤติน้ำมันโลกต่ำเป้า 2.8 แสนล้าน
- รายได้ที่ต่ำเป้าชดเชยขาดดุลสำหรับปิดเงินคงคลัง 3.47 แสนล้าน
- ขีดเพดานพรบ.หนี้สาธารณะ กู้ได้ไม่เกิน 4.41 แสนล้าน ซึ่งไม่พอ
- ผลกระทบคือ ระบบการเบิกจ่ายเงินภาครัฐทั้งหมดจะหยุดชะงัก
ข้อนี้สรุปทางเทคนิคทางการคลังได้ว่า “จำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้”
- กรอบงบที่ใช้ชัดเจนจากโครงการที่พร้อมใช้เงินแล้ว และศึกษามา พร้อมใช้เลย
- เป้าหมายคือการ “ปั๊มหัวใจ” เศรษฐกิจให้เกิดการลงทุนขนาดเล็ก ทั่วทุกจังหวัด
- ผลที่ได้คือ SME มีงานทำ ลูกจ้างไม่ตกงาน เงินสะพัดในชุมชน หมุนเวียนในระบบ
- รวมไปถึงการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรผ่าน “ประกันรายได้ฯ” โดยตรง
นายกรณ์ ระบุว่า ผลสำเร็จของไทยเข้มแข็งพิสูจน์ได้ชัดเจนมากจากการที่
1.เงินคงคลังที่ตอนแรกคาดว่าไม่พอ กลับเพียงพอปิดหีบได้ลงตัว
2.โครงการที่ต้องใช้เงินเร่งด่วนก็ใช้เงินในระบบงบประมาณปกติได้
3.เกลี่ยงบใหม่เป็นก้อนเงินลงทุนจ้างงานทั่วประเทศในปี 53 จนเศรษฐกิจฟื้นเร็วอันดับ 2 ของโลก
4.จากติดลบในปีก่อนหน้า โต 7.8% และได้แรงหนุนจากภาคส่งออกกลับมาโต 28.5%
5.คาดการณ์คนไทยตกงานเดือนละล้านคน ก็ไม่ปรากฎ เพราะเราพยุงด้วยแผนลงทุนทั่วไทย
ทั้งหมดนี้คือ “ผลจากการลงมือทำจริง” จนเป็นผลปรากฏทางตัวเลข
ส.ส.นักวิชาการท่านนี้ มองผ่านเอกสาร ขาดประสบการณ์ในทางปฏิบัติจนตกผลึกว่า หัวใจที่สำคัญที่สุดของการตรากฎหมายแบบนี้คือ “ความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อกู้วิกฤติ”
อดีตรมว.คลัง กล่าวว่า เป้าสำคัญของ พรก.กู้ 1 ล้านล้านฉบับนี้ ส่วนที่ด่วนจริงในเกณฑ์เดียวกับไทยเข้มแข็งคือก้อน 6 แสนล้านบาทที่ระบุว่าจะช่วยประชาชน และ SME ตรงนี้ทีมกรณ์เชียร์ให้ทำโดยเร็ว
แต่อีก 4 แสนล้านบาท เห็นด้วยเลยครับที่จะต้องมีการตั้งตรวจสอบอย่างเข้มข้น แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า เงินกู้แบบนี้มีระยะเวลากำหนด หากใช้ไม่ทัน เพราะยังไม่มีแผนก็จะต้องถูกล้มพับไปเหมือน “พรก.กู้น้ำท่วม” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์
นายกรณ์ แนะนำว่า ฝ่ายค้านจะทำหน้าที่ได้มีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่านี้ หากเล็งเป้าสำคัญ 3 ข้อได้ถูกจุด คือ
1.ตรวจสอบความจำเป็นเร่งด่วนของโครงการก้อน 4 แสนล้าน
2.หากลไกร่วมวางระบบการป้องกันและตรวจสอบทุจริตจากโครงการ
3.ช่วยทำให้วิธีเบิกจ่ายงบประมาณทันต่อความต้องการของประชาชนในยามวิกฤติ