รวมถึงต้องพิจารณาดูด้วยว่า ยอดงบที่โอนมาของแต่ละกระทรวงแต่ละหน่วยงานมียอดเงินมากน้อยอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่ มีบางกระทรวงควรตัดโอนงบได้มากกว่านี้ แต่ทำไมไม่ทำ คงต้องมีการซักถามตรวจสอบรายละเอียดกันในที่ประชุมสภาฯ โดยพรรคประชาธิปัตย์เห็นว่า กรอบการโอนงบฯ ควรเป็นไปบนพื้นฐาน 4 ประการ ดังนี้
1.งบประมาณที่ชะลอการดำเนินการได้โดยไม่เสียหายต่อการบริหารงานตามปกติ 2.รายการผูกพันข้ามปีงบประมาณ รายการงบประมาณปี 2563 ที่ยังไม่ก่อหนี้ผูกพัน 3.รายจ่ายลงทุนในทุกงบรายจ่ายที่ยังไม่ได้จัดซื้อจัดจ้าง และ4.วงเงินคงเหลือที่ไม่มีข้อผูกพัน งบที่ยังไม่มีการเบิกจ่ายหรือชะลอข้อผูกพันต่างๆ ได้ เช่น ค่าจัดสัมมนา ฝึกอบรม ค่าใช้จ่ายไปราชการต่างประเทศ ค่าศึกษาดูงานที่อยู่ในหลักสูตรฝึกอบรมต่างๆ การจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ การจัดอีเวนท์ต่างๆ
ขณะนี้มี ส.ส.ของพรรคฯ ที่มีความรู้ความสามารถเรื่องงบประมาณแสดงความสนใจที่จะอภิปรายในสภา 10 กว่าคนแล้ว และน่าจะมีผู้สนใจแสดงความจำนงขออภิปรายมาเพิ่มเรื่อยๆ ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบปี 2563 ในวันพฤหัสบดีที่ 4 มิ.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม ส.ส.ของพรรคฯจะเน้นอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ ถูกต้องเหมาะสมมีข้อเสนอแนะให้การใช้จ่ายงบประมาณเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่มีใครบอกได้ว่าจะยุติลงเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้นเงินทุกบาททุกสตางค์จากเงินภาษีอากรของประชาชนจึงต้องใช้อย่างคุ้มค่า ตรงจุด เพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้ต่อไป