สภาฉลุย ผ่าน พรบ.โอนงบ วาระแรก ตั้ง 49 กมธ. แปรญัตติ 3 วัน

05 มิ.ย. 2563 | 01:05 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มิ.ย. 2563 | 12:37 น.

สภาผ่านฉลุยร่างพรบ.โอนงบ เห็นชอบรับหลักการ 264 ต่อ 4 งดออกเสียง 185 ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง ตั้ง 49 อรกมธ.แปรญัตติ 3 วัน นายกฯ ย้ำ ถึงความจำเป็น ขณะที่ ฝ่ายค้าน ฉายหนังซ้ำ ย้ำ วาทกรรม ตีเช็คเปล่า ให้อำนาจนายกฯ คนเดียวละเลงเงิน “ก้าวไกล” สับงบ กองทัพ เล่นแร่แปรธาตุ

ผ่านขั้นรับหลักการไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. ... วงเงิน 88,452 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นพิเศษพิจารณาวาระนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ชี้แจงถึงหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวถึงความจำเป็น เป็นการให้โอนงบประจำปีรายจ่ายบางรายการไปเป็นงบกลาง รายการสำรองจ่ายที่จำเป็นฉุกเฉิน วงเงิน 8.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการแก้ปัญหาและบรรเทาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งร่างกฎหมายสอดคล้องกับกรอบวินัยการเงินการคลัง และทำให้การบริหารจัดการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 มีประสิทธิภาพและความคล่องตัวเท่าทันต่อสถานการณ์

“เมื่อร่างกฎหมายมีผลบังคับใช้ หน่วยงานจะขอรับการจัดสรรงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเพื่อนำไปใช้ในภารกิจ 3 เรื่อง คือ 1.การแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 2.การป้องกันและเยียวยา ภัยพิบัติ ภัยแล้ง และอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในปลายปี 2563 และ 3.แก้ไขปัญหาที่มีเหตุฉุกเฉินหรือที่จำเป็น ผมหวังว่า ส.ส.จะให้การสนับสนุนและรับหลักการร่างกฎหมายนี้ เพื่อนำงบประมาณแผ่นดินไปดำเนินการในเหตุการณ์เร่งด่วนอย่างคุ้มค่า โปร่งใสและเกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนสืบไป” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ขณะที่ฝ่ายค้านจั่วหัวโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้ได้รับมอบจากผู้นำฝ่ายค้านอภิปรายว่า การพิจารณากฎหมายโอนงบประมาณตามประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีแล้ว 5 ครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่สามารถรับหลักการได้ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ 1.ขัดกับหลักประชาธิปไตยและกฎหมายอื่นซึ่งตามหลักการนำงบประมาณไปใช้ต้องคำนึงถึงหลักความยินยอมของประชาชนเป็นหลักการสำคัญที่สภาต้องตรวจสอบได้ และใน พรบ.วิธีการงบประมาณ 2561 กำหนดห้ามไม่ให้โอนงบประมาณข้ามหน่วยงาน แม้จะอนุโลมให้โอนได้ก็ต้องโอนระหว่างหน่วยรับงบประมาณด้วยกันเท่านั้น แต่การโอนงบประมาณเข้างบกลางนั้นจะมีปัญหาเรื่องความชอบด้วยกฎหมายทันที เพราะงบกลางไม่ได้มีสถานะเป็นหน่วยรับงบประมาณ เป็นเพียงรายการการใช้เงินเท่านั้น และงบกลางส่วนนี้ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจคือ นายกฯ เท่านั้น และ2.รายการของการโอนงบประมาณครั้งนี้ต้องเรียกว่าจอมโอนแห่งยุค เพราะพล.อ.ประยุทธ์ได้โอนงบประมาณมาแล้ว 4 ครั้ง ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ประกอบกับเมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะประธานกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ออกประกาศคณะกรรมการฯ กำหนดสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 2% แต่ไม่เกิน 7.5% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเป็นการแก้ไขระเบียบมารองรับเพื่อให้งบกลางอยู่ในอำนาจของนายกฯ แต่เพียงผู้เดียวมากขึ้น  

"การทำร่างกฎหมายเช่นนี้เหมือนมัดมือสภาและตีเช็คเปล่า หากสภาอนุมัติให้ผ่านไป เราจะเป็นสภาจากการเลือกตั้งชุดแรกที่มีรอยด่างว่าถูกมัดมือชก และเห็นชอบกฎหมายโอนงบประมาณที่ไม่ควรเห็นชอบ เพราะไม่มีรายละเอียด ดังนั้นเพื่อศักดิ์ศรีของสภา เราโปรดอย่าได้รับหลักการ แต่หากจะรับหลักการก็ต้องรับหลักการแบบมีเงื่อนไข โดยหากการพิจารณาวาระ 2 และ 3 ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการใช้งบประมาณอีก ฝ่ายค้านในฐานะเสียงข้างน้อยจะโหวตคว่ำเพื่อบันทึกเอาไว้" นพ.ชลน่านกล่าว

เช่นเดียวกับ นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การโอนงบประมาณปี 2563 ถือเป็นจิกซอว์สำคัญในการแก้ไขวิกฤตินี้ต่อจาก 3 พระราชกำหนดกู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท และร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ที่กำลังเข้าสภาเร็วๆนี้ ตั้งข้อสังเกตในร่างพรบ.นี้ใน 4 ประเด็น คือ 1.โอนล่าช้า ไม่ไยดีต่อความเดือดร้อนของประชาชน เพราะที่ผ่านมาพรรคเสนอขอเกลี่ยงบส่วนนี้ตั้งแต่เดือน มี.ค. แต่รัฐบาลไม่นำมาปฏิบัติ ถ้าเกลี่ยงบตั้งแต่ตอนนั้นเราอาจไม่ต้องกู้เงินถึง 1  ล้านล้านบาท 2.โอนน้อย ทั้งที่ยอดตัดโอนของหน่วยงานต่างๆ จาก 3 แผนงาน รวม 5.3 หมื่นล้านบาทนั้นสามารถตัดได้ 8.4 หมื่นล้านบาท

3.โอนทะลุกรอบ เม็ดเงินที่โอนในคราวนี้ถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์ จึงมีประกาศของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของภาครัฐ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน ได้ปรับเพดานงบกลางเพิ่มเป็น 3.5% - 7.5% ของวงเงินงบประมาณ ทำให้มีปัญหาว่า รัฐบาลตั้งงบกลาง ซึ่งเป็นงบของนายกฯ สภาไม่สามารถตรวจสอบได้เลย ขณะที่สัดส่วนในการชำระหนี้ภาครัฐก็ถูกปรับลดจาก 2.5% เหลือ 1.5 % ทำให้ท่านสามารถชักดาบได้ต่อไป และ4.โอนไม่จริง จากเดิมงบประมาณทำโครงการผูกพันในปีที่ 1 กำหนดให้จ่าย 20% ของยอดค่าโครงการปีที่ 2 และ 3 ต้องจ่าย 40%

แต่มติ ครม.รัฐบาลนี้ได้ปรับลดยอดของงบผูกพันในลักษณะดาวน์น้อยผ่อนนานและหนัก ส่งเสริมการเบียดบังงบในปีต่อๆ ไป เพราะปรับลดยอดจากงบ 20% ในปีแรกลงเหลือ 15% ส่วนปีที่ 2 และ 3 ปรับเพิ่มเป็น 42.5% ส่วนที่แย่ไปกว่านั้น การโอนงบของกระทรวงกลาโหมมีวงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท ตัวเลขเยอะ เหมือนยอมไม่ซื้ออาวุธเพราะเห็นแก่ประชาชน ทั้งๆ ที่เป็นการเล่นแร่แปรธาตุ แหกตาประชาชน เพราะเป็นหน่วยงานที่ฝืนมติ ครม. ลดเงินที่ต้องจ่ายในโครงการในปีแรกจาก 15% เหลือเพียง 10% เท่านั้น โดยปีที่ 2 และ 3 จ่ายถึง 45% ทั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นเจ้ากระทรวง แต่เขียนด้วยมือลบด้วยเท้าหรือไม่ เช่น โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ซึ่งไม่ทราบจะถูกรื้อฟื้นมาอีกเมื่อไหร่ เพราะล้วนเป็นโครงการดาวน์น้อยผ่อนหนัก

ขณะที่ในส่วนของกองทัพบกมีโครงการจัดหารถยานเกราะล้อยาง Stryker ปี 2563-2565 วงเงิน 4.5 พันล้านบาท โครงการจัดหาเครื่องบินใช้งานทั่วไป ปี 2563-2565 วงเงิน 1.3 พันล้านบาท และกองทัพอากาศ โครงการจัดหาเครื่องบินฝึกทดแทน บ.ฝ.19 ปี 2563-2565 วงเงิน 5.1 พันล้านบาท

"เฉพาะ 3 โครงการของกองทัพบกกับกองทัพอากาศ มีวงเงินสูงถึง 1.1 หมื่นล้านบาท สามารถเอาไปใช้ซื้อวัคซีนเข็มละ 1,000 บาท ฉีดสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนได้ถึง 2.2 ล้านคน หรือเปลี่ยนเป็นเงินเยียวยา 5,000 บาท ได้ 442,400 คน ดังนั้นพรรคจึงขอเสนอให้การพิจารณางบให้มีประสิทธิภาพ โดยให้สำนักงบประมาณเผยแพร่รายละเอียดร่าง พ.ร.บ.งบประมาณในรูปแบบดิจิทัล และควรใช้กลไกของ  กมธ.วิสามัญตรวจสอบงบประมาณ และมาตรการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในการตรวจสอบการใช้จ่าย  พร้อมออกประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังฉบับใหม่ โดยต้องกำหนดเวลาสิ้นสุดการขยายกรอบวินัยการเงินการคลัง” นายพิจารณ์กล่าว

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ชี้แจงกรณีที่ ฝ่ายค้านพูดถึงรายจ่ายงบกลาง โดยยืนยันว่า ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะนำเงินทุกบาททุกสตางค์มาใช้ได้ทั้งหมดโดยนายกฯ เพียงผู้เดียว งบกลางแบ่งออกเป็นหลายส่วน อาทิ เงินเบี้ยหวัด, บำเหน็จ, บำนาญ, เงินเลื่อนขั้นปรับวุฒิข้าราชการ, เงินสมทบลูกจ้างประจำ, เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน เป็นต้น

 “การใช้จ่ายงบกลางนั้นมีขั้นตอน ไม่ใช่อำนาจของนายกฯ คนเดียว ซึ่งหน่วยงานที่จะขอใช้เงินนั้นสามารถเสนอโครงการมายัง ครม.ได้ ซึ่งผมในฐานะหัวหน้า ครม.ต้องพิจารณาอนุมัติการทำงานทั้งหมด  ขออย่าห่วงมาก ให้กฎหมายและเจ้าหน้าที่ทำงาน จากนั้นจึงมาติดตามว่าระหว่างการทำนั้นทุจริตหรือไม่ ตอนนี้ยังไม่มีงบ" พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจง

ส่วนข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงไม่ทำ พ.ร.บ.โอนงบก่อน จะได้ไม่ต้องทำ พรก.กู้เงินนั้น ขอชี้แจงว่า อย่างไรก็ไม่พออยู่แล้ว จึงมีการประมาณการเพราะไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นอีก ไม่ใช่เฉพาะโควิด และการออกเป็น พ.ร.ก.กู้เงินสามารถดำเนินการได้เร็วกว่าการจัดทำ พรบ.โอนงบ หลายคนบอกว่า เอาไป เอาไปเลย คงไม่ใช่ เพราะเขียนไว้กรอบกว้างๆ ว่าใช้ทำอะไรบ้าง โควิด น้ำท่วม หรืออื่นๆ ที่จำเป็น ดังนั้นอะไรที่ถูกตัดไปช่วงแรกในช่วงโอนงบประมาณสามารถขอขึ้นมาใหม่ได้ 

หลังจากที่ส.ส.อภิปรายเสร็จสิ้นแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวปิด ระบุว่า ยินดีรับฟังความเห็นของทุกคน  วันนี้ต้องทำให้ประเทศก้าวพ้นวิกฤติทั้งโควิดและเศรษฐกิจไปพร้อมกัน ส่วนคำถามที่ว่าเมื่อไรจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น เรื่องนี้ต้องมอง 2 มุม ไม่ใช่เพื่อรักษาอำนาจตัวเอง ถ้าไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินเราคงไม่ผ่านสถานการณ์มาถึงจุดนี้ ขอให้ดูเหตุการณ์ที่บางแสนเมื่อวันที่ 3 มิ.ย.63 อันตรายแค่ไหน ถ้าจะให้พ้นตรงนี้ไปได้ ทุกคนทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต้องช่วยกันเตือนประชาชน จิตใจตนมั่นคง มีอย่างเดียวคือทำเพื่อประเทศบ้านเมือง ขอบคุณทุกคนในการเสนอความเห็นอันเป็นประโยชน์ ยืนยันรัฐบาลจะดูแลทุกคนให้ดีที่สุด

กระทั่ง นายชวน ประธานการประชุม ได้ให้ ส.ส.ลงมติ โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบรับหลักการด้วยคะแนน 264 ต่อ 4 งดออกเสียง 185 ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง และได้ตั้งคณะ กมธ.วิสามัญ จำนวน 49 คน และกำหนดระยะเวลาทำงาน 3 วัน

สุดท้ายพล.อ.ประยุทธ์ ยังได้ชี้แจงกรณีงบของกระทรวงกลาโหมว่า เป็นไปตามเกณฑ์ที่สามารถชะลอโครงการได้ แต่โครงการใดที่ทำสัญญาผูกพันแล้ว หรืออยู่ภายใต้กรอบข้อตกลงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ไม่สามารถโอนได้ ขอให้เห็นใจทหารด้วยเพราะต้องทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น ช่วยน้ำท่วม  ฝนแล้ง ทั้งที่หน้าที่หลักคือป้องกันประเทศ