บัตรทอง ไฟเขียว ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ เคมีบำบัดที่บ้าน ลดเสี่ยงโควิด-19

27 มิ.ย. 2563 | 03:39 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มิ.ย. 2563 | 10:50 น.

บอร์ดสปสช. อนุมัติ “เคมีบำบัด” ที่บ้านในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ ช่วงโควิด-19 นำร่องใน 27 แห่ง ภายใต้งบกองทุนบัตรทองกรณีโควิด-19 พร้อมเห็นชอบบริการสาธารณสุขระบบทางไกล-รับยาร้านยาใกล้บ้านโมเดล 3

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบไม่เฉพาะการใช้ชีวิตของเราทุกคนเท่านั้นแต่ยังส่งผลต่อการให้บริการทางด้านสาธารณสุขด้วย ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่มี รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานการประชุมเมื่อเร็วๆนี้ ได้อนุมัติให้ใช้งบค่าใช้จ่ายสำหรับกรณีโควิด-19 ปีงบประมาณ 2563 จ่ายเป็นค่าบริการสาธารณสุข 3 รายการเพิ่มเติม

ทั้งนี้ แม้ว่าการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (covid-19) หรือ โควิด-19 ของประเทศไทยจะอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ แต่ภาพรวมทั่วโลกและในหลายๆ ประเทศ เชื้อโควิด-19 ยังคงมีการระบาดต่อเนื่อง ทั้งยังมีรายงานผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การป้องกันและลดการแพร่ระบาดยังเป็นมาตรการที่จำเป็น และภายใต้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรณีโควิด-19 ปีงบประมาณ 2563 ในการประชุมบอร์ด สปสช. ที่ผ่านมาได้เห็นชอบรายการการสนับสนุนงบค่าใช้จ่ายสำหรับบริการกรณีโควิด-19 ใน 3 รายการเพิ่มเติม

รายการแรกอนุมัติให้นำร่องบริการยาเคมีบำบัดสำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่บ้าน” (Home Chemotherapy for CA Colon) ในพื้นที่ที่มีความพร้อม เพื่อลดความเสี่ยงผู้ป่วยในการติดเชื้อโควิด-19 และเป็นไปตามหลักการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทำให้ผู้ป่วยได้รับเคมีบำบัดต่อเนื่อง ไม่ต้องมาที่โรงพยาบาล ซึ่งจากการให้บริการของโรงพยาบาลรามาธิบดีที่ได้จัดบริการ Ramathibodi home-based chemotherapy model (RHCM) ตั้งแต่ปี 2559 พบว่า มีต้นทุนไม่ต่างจากมารับบริการในโรงพยาบาล นับเป็นทางเลือกบริการที่ดี 

ทั้งนี้ การให้บริการ สปสช.กำหนดต้องเป็นไปตามมาตรฐานบริการหรือแนวทางปฏิบัติการของมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย และเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา กรมการแพทย์ สปสช. และโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้หารือเพื่อทำมาตรฐานในการดูแลผู้ป่วยในระบบบัตรทอง ซึ่งจะมีระบบกำกับติดตามมาตรฐานและความปลอดภัยของผู้ป่วย สำหรับในส่วนการจ่ายชดเชยจะเป็นลักษณะเดียวกับค่าบริการผ่าตัดวันเดียวกลับ (One Day Surgery: ODS)  ปีงบประมาณ 2563 คาดว่า จะมีโรงพยาบาลนำร่อง 27 แห่ง ครอบคลุม 13 เขตสุขภาพ และจะขยายผลในระยะต่อไป

 “เป็นข้อเสนอของกรมการแพทย์และโรงเรียนแพทย์เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อในช่วงโควิด-19 โดยผู้ป่วยมะเร็งจะเข้ารับการเตรียมพร้อมเพื่อให้เคมีบำบัดเฉพาะครั้งแรกและครั้งต่อไปผู้ป่วยสามารถรับเคมีบำบัดที่บ้านได้ สาเหตุที่เริ่มในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ เนื่องจากมีความพร้อมในเรื่องของยาและบริการ รวมถึงความพร้อมโรงพยาบาลที่จะทำในเรื่องนี้”       

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

รายการที่ 2 และ 3 ต่อเนื่องจากมติบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยเห็นชอบอัตราค่าบริการสาธารณสุขระบบทางไกล (Telehealth/elemedicine) และสายด่วนสุขภาพจิต จำนวน 30 บาทต่อครั้ง และบริการจ่ายยาที่ร้านยา รูปแบบที่ 3 (Model 3) ร้านยาดำเนินการจัดการด้านยาเอง ภายใต้โครงการผู้ป่วยรับยาใกล้บ้าน เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล และเว้นระยะห่างทางสังคม โดยจ่ายเพิ่มเติมค่าจัดบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ จำนวน 8,000 บาท สำหรับร้านยาเพื่อสำรองยา ซึ่งเป็นตามนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม และบริการรูปแบบ New Normal

นอกจากนี้ บอร์ด สปสช.ยังได้เห็นชอบให้เพิ่มแนวทางบริการจัดการงบบริการโควิด-19 โดยในส่วนกรณีของหน่วยบริการที่มีความจำเป็นในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงและหากไม่ได้รับการรักษาจะเป็นอันตรายกับผู้ป่วย โดยให้หน่วยบริการสามารถอุทธรณ์ค่าใช้จ่ายเป็นรายกรณีภายใต้งบประมาณสำหรับบริการโควิด-19 ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ สปสช.กำหนด โดยคำนึงถึงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทั้งนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนหน่วยบริการในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 อย่างเต็มที่ และไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการ

ข้อมูล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ