ประกาศ7ฉบับ ต่อพรก.ฉุกเฉินถึง 31ก.ค. 63 - คลายล็อกเฟส 5 เปิดกิจการสี่ยงสูง

30 มิ.ย. 2563 | 16:08 น.

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ/คำสั่ง จำนวน7ฉบับ เป็นการต่อ "พรก.ฉุกเฉิน" ถึง 31ก.ค. 63 และรายละเอียด "คลายล็อก เฟส 5" ในการเปิดกิจการ/กิจกรรมเพิ่มเติม 1 ก.ค.นี้

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศจำนวน 7 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามอำนาจของ พรก.ฉุกเฉิน เพื่อคุมสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ไป ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 30 มิ.ย.นี้ ออกไปอีก 1 เดือน จนถึง 31 ก.ค. 2563  

พร้อมกันนี้ประกาศยังเป็นการระบุรายละเอียดมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ระยะที่ 5 หรือ คลายล็อกเฟส 5 ในกลุ่มกิจการ/กิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง ให้กลับมาเปิดบริการได้วันที่ 1 ก.ค.นี้เป็นต้นไป ได้แก่   

1.การผ่อนผันการใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียน หรือ สถาบันการศึกษา โดยจะมีการเปิดทั้งหมดทั้งของรัฐ-เอกชนในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ 

2. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมิวนิตี้มอลล์ ให้เวลาเปิด/ปิดการดำเนินกิจการได้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ศูนย์การค้าควรปิดเวลา 22.00 น. และร้านสะดวกซื้อสามารถเปิดได้ 24 ชั่วโมง

3. สถานบริการ สถานประกอบการคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ 

4. ร้านเกมและร้านอินเทอร์เน็ต ที่ต้องมีใบอนุญาตประกอบการที่ถูกต้อง 

5. สถานประกอบกิจการ อาบอบนวด โรงน้ำชา 

โดยทุกกิจการ/กิจกรรมที่ได้รับอนุญาตให้ คลายล็อกเฟส 5 ทั้งผู้ให้บริหารและผู้ใช้บริการต้องลงทะเบียนเข้า-ออกสถานที่ด้วยแอปพลิเคชั่น ไทยชนะ หรือจดบันทึกรายงานแทนได้ พร้อมกับการเฝ้าระวังโรค สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง วัดอุณหภูมิร่างกาย มีระบบระบายอากาศ ติดตั้งกล้องวงจรปิดในพื้นที่ส่วนรวมของร้านเพื่อติดตามกำกับบันทึกข้อมูลในช่วงเวลามากกว่า 1 เดือน

โดยประกาศทั้ง 7 ฉบับมีดังนี้

1. ประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ ๓)  

2. ประกาศ เรื่อง การให้ประกาศที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผลใช้บังคับ

3. ประกาศ เรื่อง การให้ข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผลใช้บังคับ

4. ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๑๑)

5. ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๑๒)

6. คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด - ๑๙) ที่ ๖/๒๕๖๓ เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๕)

7. คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด - ๑๙) ที่ ๗/๒๕๖๓ เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๖)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับฉบับที่สำคัญในการต่อ พรก.ฉุกเฉิน คือ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร(คราวที่ 3) ลงนามโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุข้อความว่า

ตามได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และได้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินคราวที่ 2 ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563นั้น

โดยที่รัฐบาลได้ดำเนินบรรตามาตรการต่าง ๆ อันจำเป็นเพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 มาแล้วช่วงระยะเวลาหนึ่งทำให้การระบาดในประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามยาและวัคซีนยังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยและทดลองประกอบกับสถานการณ์การระบาดของโรคดังกล่าวทั่วโลกยังมีความรุนแรงแม้ในประเทศที่ควบคุมการระบาดของโรคได้ดีจนมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในอัตราต่ำหรือคงที่เมื่อได้ผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆลง 

กลับปรากฏว่ามีการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าในสัปดาห์ที่สี่ของเดือนมิถุนายนมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากที่สุดภายในวันเดียวนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโรคกระทั่งองค์การอนามัยโลกได้แถลงเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทและสนับสนุนให้ดำเนินมาตรการป้องกันโรคอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัดเพื่อควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคมิให้นำไปสู่การระบาดระลอกใหม่

จึงมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีกคราวหนึ่ง แต่การขยายระยะเวลาในคราวนี้มิได้มุ่งที่จะห้ามหรือ จำกัด การดำเนินกิจกรรมหรือกิจการใด ๆ แต่มุ่งประโยชน์เพื่อการบูรณาการความรับผิดชอบและการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายนอกเหนือไปจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อให้การเฝ้าระวังการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคในห้วงเวลาที่ประเมินว่ายังคงมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคภายหลังจากที่รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ด้วยการให้กิจการและกิจกรรมต่าง ๆ สามารถเปิดดำเนินการได้มากขึ้นเพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวเป็นไปโดยมีเอกภาพมีประสิทธิภาพรวดเร็วทันต่อสถานการณ์มุ่งรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยในด้านสุขภาพและชีวิตของประชาชนเป็นสำคัญ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นขอบของคณะรัฐมนตรีตามมติเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 จึงให้ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโนทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีกคราวหนึ่ง สำหรับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปควบคู่กัน
ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563  จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 

ประกาศ ณ วันที่ 31 มิ.ย. 2563 

 

ที่มา ราชกิจจานุเบกษา