คดี“บอส อยู่วิทยา” อลงกรณ์ ชี้ ตอกย้ำวลี “คุกมีไว้ขังคนจน”

26 ก.ค. 2563 | 09:26 น.

“อลงกรณ์” ชี้ คดี “บอส กระทิงแดง” สะท้อน ความเหลื่อมล้ำทางสังคม-ลดทอนความเชื่อมั่นของประเทศ เสนอ รัฐบาล 2 ข้อ เร่งตรวจสอบคดี-เดินหน้าปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เผย ปชป.เตรียมเสนอสภาฯสอบสวน

26 กรกฏาคม 2563 นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวให้ความเห็นเกี่ยวกับคดี "บอส อยู่วิทยา" หรือ “บอสกระทิงแดง” ว่า กำลังสร้างความไม่เชื่อมั่นต่อการทำหน้าที่ของตำรวจและอัยการผู้รับผิดชอบคดี สะท้อนถึงความ 2 มาตรฐานของการบังคับใช้กฎหมายที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้ถ่างกว้างมากยิ่งขึ้น นำมาซึ่งความเสื่อมของหลักนิติรัฐนิติธรรมของประเทศ และไม่เพียงแต่ทำให้ประชาชนขาดความศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมและความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายเท่านั้น แต่ยังลดทอนความเชื่อมั่นด้านธุรกิจการค้าและการลงทุนของต่างประเทศที่มีต่อประเทศไทย รวมทั้งกระทบภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศโดยตรงอีกด้วย คดีในลักษณะนี้ไม่ใช่กรณีเดียวที่เกิดขึ้นในประเทศนี้แต่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเกิดวลีที่กล่าวว่า “คุกมีไว้ขังคนจน”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

“ผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่รู้สึกอนาถใจในความไม่ชอบมาพากลของคดีนี้อย่างรุนแรงจึงมีข้อเสนอแนะ 2 ประการ คือ 

รัฐบาลควรสั่งการให้มีการตรวจสอบคดีดังกล่าวทันทีด้วยอำนาจของนายกรัฐมนตรีผู้ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารสูงสุดของประเทศ และเร่งรัดดำเนินการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ภายใต้แผนปฏิรูปของคณะกรรมการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรมใน 10 ประเด็นเร่งด่วน ได้แก่

 

1.การกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า

2. การพัฒนากลไกช่วยเหลือและเพิ่มศักยภาพเพื่อให้ประชาชนเข้าถึง กระบวนการยุติธรรม

3. การพัฒนากลไกการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

4. การปรับกระบวนทัศน์ในการบริหารงานยุติธรรมเพื่อสร้างความปลอดภัยและความเป็นธรรมในสังคม

5. การปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาเพื่อให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุล ระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม

6.การกำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ชัดเจนเพื่อมิให้คดีขาดอายุความ

7. การพัฒนาระบบการสอบสวนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของ พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ

8. การปฏิรูประบบนิติวิทยาศาสตร์เพื่อความถูกต้องสมบูรณ์ของข้อเท็จจริงแห่งคดี

9. การเสริมสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมเพื่อมุ่งอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนโดยสะดวกและรวดเร็ว

10. การพัฒนาประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ

การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะ ต้นน้ำ คือ ตำรวจและอัยการ จึงเป็นวาระเร่งด่วนซึ่งอัยการสูงสุดและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อภารกิจดังกล่าวโดยร่วมมือกับรัฐสภาซึ่งมีหน้าที่กำกับการปฏิรูปประเทศในทุก 3 เดือนได้ตรวจสอบควบคุมการดำเนินการตามแผนปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างเข้มข้น ทั้งนี้ เพื่อสร้างกระบวนการยุติธรรมที่มีธรรมาภิบาลให้กับประชาชนและประเทศชาติ

 

นอกจากนี้ในฐานะประธานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคได้ปรึกษากับ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธานส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์พิจารณานำเรื่องเข้าหารือต่อสภาผู้แทนราษฎรให้ใช้กลไกของสภาผู้แทนราษฎรสอบสวนตรวจสอบคดีดังกล่าวในสัปดาห์หน้า”