ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ หรือ ศอ.ปส. พร้อมด้วย พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และนายอุทัย สินมา อธิบดีอัยการสำนักงานคดีแรงงานภาค 3 ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานสืบสวนสอบสวนทางการเงินเพื่อการยึดทรัพย์สินเครือข่ายยาเสพติด (ครั้งที่ 6/2563) ร่วมกันแถลงข่าว “ยุทธการพิทักษ์ไทย ยึดทรัพย์ ตัดวงจรยาเสพติด” ครั้งที่ 5/2563
นายสมศักดิ์ ระบุว่า ตามนโยบายเร่งด่วนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ให้ไว้เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีข้อสั่งการให้ขยายผลเพื่อจับกุมนายทุน และผู้อยู่เบื้องหลังการค้ายาเสพติด รวมถึงจัดตั้งกลไกการบูรณาการการปราบปรามยาเสพติด เพื่อสืบสวนขยายผลและยึดทรัพย์สินเครือข่ายยาเสพติด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกรัฐมนตรีสั่ง รมว.ยุติธรรมเดินหน้ายึดทรัพย์เครือข่ายยาเสพติด
เร่งยึดทรัพย์ “ยาเสพติด” ดึงเงินเข้ารัฐเยียวยาโควิด
กวาดล้างยาเสพติด "วันอาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา" ยึดทรัพย์ 33ล้าน
“บิ๊กตู่”ปราบยาเสพติดได้ ไฟใต้ก็แก้ง่าย
โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ที่ได้รับมอบหมายภารกิจในการสอบสวนเส้นทางการเงินของเครือข่าย นางสาวชบา ซึ่งล่าสุดมีการปิดล้อม ตรวจค้น เป้าหมาย เครือข่ายยาเสพติด เพื่อตัดวงจรด้วยการยึดทรัพย์
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ใช้เทคโนโลยีในการสืบค้นธุรกรรมทางการเงินที่ทันสมัย โดยปฏิบัติการสืบสวน สอบสวนเครือข่ายยาเสพติดอย่างเข้มข้น เพื่อติดตามเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติดทางกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งสามารถอายัดบัญชีธนาคาร และทรัพย์สินที่เป็นทองคำแท่ง ทองรูปพรรณ อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์หรู กระเป๋าแบรนด์เนม เงินสดไทยและต่างประเทศ ฯลฯ รวมมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท
นายสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปฏิบัติตัดวงจรยาเสพติดนั้นดำเนินการมาตลอด 7 เดือน ถือเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการปรามปราบยาเสพติดให้ได้มากที่สุด จากปีก่อนสถิติการยึดทรัพย์ ที่ทำได้ทั้งปีเฉลี่ยเพียง 600 ล้านบาท แต่เมื่อเรานำวิธีการตัดวงจรมาใช้ไม่ถึง 1 ปีเราสามารถยึดได้กว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่า เกินเป้ากว่าที่เรากำหนด การดำเนินงานในครั้งตนต้องขอบคุณทุกหน่วยงานที่ทำให้เราประสบความสำเร็จและในปีต่อไปเราจะทำงานให้เข้มข้นตามแนวทาง 10 X RULE ( ทำงาน 10 เท่า ) ดังนั้นในปีหน้าเราจะตัดวงจรยาเสพติดให้ได้ กว่า 6,000 ล้าน”
ด้านพ.ต.ท.กรวัชร์ กล่าวว่า ยุทธการครั้งนี้ทางดีเอสไอใช้เวลาในการติดตามกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดมากกว่า 3 เดือน และนำเทคโนโลยีสืบค้นธุรกรรมทางการเงินมาใช้เพียง 2 เดือน ก็สามารถเริ่มปฏิบัติการพร้อมกันได้ถึง 5 จุด ในจังหวัดชลบุรี จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร 2 จุด คือ เขตบางเขน และ เขตตลิ่งชัน โดยจุดที่สามารถอายัดทรัพย์สินได้มากที่สุดในการลงพื้นที่ คือ เขตตลิ่งชันได้ทองคำแท่งน้ำหนักประมาณ 1,000 บาท พระเครื่องและสร้อยทองคำ รวม 35 รายการ เครื่องประดับอื่นอีก 10 รายการ และยังพบธนบัตรไทยและธนบัตรต่างชาติอีกประมาณ 1 ล้าน 2 แสนบาท
นอกจากนี้ยังมีรายการทรัพย์สินต่างๆอีก ประกอบด้วย
1.บัญชีธนาคาร จำนวน 65 บัญชี มูลค่า 50 ล้านบาท
2.บ้านพร้อมที่ดิน จำนวน 85 รายการ มูลค่า 340 ล้านบาท
3.รถยนต์ จำนวน 97 คัน มูลค่ากว่า 83 ล้านบาท
4.ทองคำ จำนวน 1,064 บาท มูลค่ากว่า 31 ล้านบาท
5.พระกรอบทอง พร้อมสร้อยทอง จำนวน 30 รายการ มูลค่ากว่า 2 ล้านบาท
6.กระเป๋าแบรนด์เนม จำนวน 11 ใบ มูลค่ากว่า 800,000 บาท
7.เครื่องประดับ มูลค่า 500,000 บาท
นอกจากนี้ยังพบเงินสดสกุลต่างๆ อาทิ เงินดอลลาร์ เงินกีบลาว เงินดองเวียดนาม รวมทั้งสิ้นกว่า 1 ล้าน 2 แสนบาท และรวมมูลค่าการยึดทรัพย์ ทั้งสิ้นกว่า 500 ล้านบาท โดยเรายังสามารถเข้ายึด อายัดไม้แปรรูป ในจังหวัดสมุทรสาครได้อีกจำนวนหนึ่งด้วย ซึ่งในขณะนี้ดีเอสไอได้ส่งมอบให้กรมป่าไม้ ตรวจสอบว่า ไม้เป็นชนิดใดมีปริมาณเท่าใด หากพบว่าเป็นไม้ที่ไม่ถูกต้อง ดีเอสไอจะดำเนินการตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด
ผมขอยืนยันว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ จะเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติงาน และจะดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับผู้กระทำความผิดในลักษณะนี้ให้ได้รับการลงโทษตามกฎหมายอย่างหนักต่อไป
ในส่วนการปฏิบัติงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในด้านการตัดวงจรทางการเงินของเครือข่ายยาเสพติด กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งเป็นธุรกรรมการเงินต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด โดยใช้เครื่องมือติดตามความสัมพันธ์การรับโอนเงินที่เป็นระบบเก่า ซึ่งเป็นการยากในการขยายผล ไปถึงตัวการสำคัญในเรื่องยาเสพติด ประกอบกับ ท่านรัฐมนตรีสมศักดิ์ เทพสุทิน ให้ความสำคัญในเรื่องของการตัดเส้นทางการเงินของวงจรยาเสพติด ด้วยการยึด/อายัดทรัพย์ จึงได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการสืบค้นทางการเงิน โดยเทคโนโลยีดังกล่าว สามารถเจาะไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นตัวการสำคัญได้ ทั้งยังสามารถแยกกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดออกไปเป็นวงกว้าง
จากการตรวจสอบข้อมูลทางธนาคาร ข้อมูลการชำระภาษี ของกรมสรรพากร พบว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีเงินเข้าบัญชีธนาคารเป็นหลัก 100 – 1,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีการชำระภาษี และเมื่อตามเส้นทางของบุคคลเหล่านี้พบว่าส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เมื่อรวบรวมข้อมูลจนมั่นใจว่ากลุ่มบุคคลนี้ได้กระทำการเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงรับเป็นคดีพิเศษ และได้ปฏิบัติการในวันที่ 19 สิงหาคม 2563 โดยสามารถยึดและอายัดทรัพย์สินได้กว่า 500 ล้านบาท