กันยายน 2563 สภาร้อน ม็อบนักศึกษาเดือด

30 ส.ค. 2563 | 04:30 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ส.ค. 2563 | 11:32 น.

เดือนกันยายน บางเหตุการณ์ โดยเฉพาะ “ม็อบนักศึกษา” ที่จะชุมนุมกันกลางเดือน น่าจะเร่งเร้าความร้อนแรงทางการเมืองขึ้นมาได้

 

เดือน “กันยายน” นี้ มีเหตุการณ์ทางการเมือง หลายเห็นเหตุการณ์ที่น่าสนใจ บางเหตุการณ์ โดยเฉพาะ “ม็อบนักศึกษา” ที่จะชุมนุมกันกลางเดือนกันยายน น่าจะเร่งเร้าความร้อนแรงทางการเมืองขึ้นมาได้

 

ในห่วงเดือนกันยายน ซึ่งเป็นโค้งสุดท้ายของสมัยประชุมรัฐสภา เดิมทีสภาฯ จะปิดเทอมในวันที่ 18 กันยายน 2563 แต่มีการขยายออกไปเป็นวันที่ 25 กันยายน เพราะมีเรื่องสำคัญที่รอเข้าที่ประชุมสภาฯ หลายเรื่อง

 

เริ่มจาก วันที่ 1 กันยายน จะมีการประชุมร่วมกันของ 2 สภาฯ เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ. เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ  จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 

 

1. ร่างกฎหมายให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด 2. ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด และ 3. ร่างกฎหมายวิธีพิจารณาคดียาเสพติด 

 

ถัดไป วันที่ 9 กันยายน มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ซึ่งเป็นญัตติของฝ่ายค้านที่จะสอบถามเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง ทั้งนั้ คณะรัฐมนตรีจะมาร่วมรับรับฟังและชี้แจงข้อซักถามด้วย  

 

วันรุ่งขึ้น 10 กันยายน ที่ประชุมสภาฯ จะพิจารณารายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน 

 

ส่วนวันที่ 16-18 กันยายน ที่ประชุมสภาฯ จะพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระ 2-3  

 

ขณะที่วันเสาร์ที่ 19 กันยายน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ กลุ่ม “ธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ได้ประกาศผ่านเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ไปแล้วว่า ในวันดังกล่าว “ขอประกาศจัดชุมนุมครั้งใหญ่ พร้อมกับแฮชแท็ก #ธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ซึ่งรายละเอียดจะมีการแถลงเพิ่มเติมอีกครั้ง

 

กันยายน 2563  สภาร้อน ม็อบนักศึกษาเดือด

 

 

เหตุที่จัดชุมนุมใหญ่ในวันดังกล่าว เนื่องจากเป็นวันที่ตรงกับ 19 กันยายน 2549 หรือ เมื่อ 14 ปีก่อน ที่มีการรัฐประหารยึดอำนาจจาก รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

 

ว่ากันว่า การชุมนุมใหญ่ครั้งนี้จะมีนักศึกษาและประชาชนทั่วไป เข้าร่วมจำนวนมาก ซึ่งประเด็นที่มีการอภิปรายถล่มรัฐบาลบนเวที อาจจะทำให้ “การเมือง” ร้อนแรงขึ้นมาได้

 

 

 

ถัดไป ระหว่างวันที่ 23-24 กันยายน มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ที่มีการเสนอญัตติ ในวาระที่ 1 ชั้นรับหลักการ

 

กล่าวสำหรับการเปิดอภิปรายทั่วไปของสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ในวันที่ 9 กันยายนนั้น เป็นวาระร้อนที่ห้ามพลาด เนื่องจากเปรียบเสมือนเป็นการซ้อมอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน และเป็นจังหวะที่ประจวบเหมาะกับภาพเศรษฐกิจ การเงินการคลัง ที่มีปัญหา รวมไปถึงการเมืองนอกสภา หลังมีการตั้งข้อหา ตั้งคดี แกนนำผู้ชุมนุมหลายราย

 

ส่วนประเด็นร้อนอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ได้อยู่ที่การหํ่าหั่นกันของฝ่ายค้านกับรัฐบาล แต่อยู่ที่การหํ่าหั่นกันเองระหว่างฝ่ายค้านด้วยกันเอง เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอเข้าสู่สภาฯ นั้น ไม่ได้มีการอ "ปิดสวิตช์ ส.ว.” ทันที ตามที่พรรคก้าวไกลต้องการ แถมทั้ง 2 พรรค ยังมีการให้ข่าวถล่มโจมตีกันเกิดขึ้น  

 

โดยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยและฝ่ายรัฐบาล ต่างมีหลักการตรงกัน คือ การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แต่แตกต่างกันในรายละเอียด โดยของพรรคเพื่อไทยให้ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้ง 100% ส่วนฝ่ายรัฐบาลใช้ระบบผสมระหว่างการเลือกตั้งและการสรรหาเพื่อให้มีผู้ทรงคุณวุฒิ นักเรียน นักศึกษา เข้ามาร่วมเป็นส.ส.ร.ด้วย

 

 

 

การเคลื่อนเกมของฝ่ายค้านครั้งนี้ โดยเฉพาะ “พรรคเพื่อไทย” ไม่พยายามเปิดหน้ารุกไล่ส.ว.มากนัก เพราะไม่ต้อง การให้บรรยากาศเสียไปทั้งกระบวน ภายหลังส.ว.บางกลุ่มยอมถอยแล้ว ฝ่ายค้านจึงเลือกที่จะเน้นการสื่อสารต่อสาธารณะโดยแตะส.ว.ให้น้อยที่สุด

 

ดังนั้น เมื่อรัฐสภารับหลักการวาระที่ 1 ของร่างรัฐธรรมนูญแล้วและมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันของรัฐสภา “สงคราม” จะเริ่มนับหนึ่งจากนั้น เพราะต่างฝ่ายต่างมีวาระและความต้อง การของตัวเอง

 

ฝ่ายรัฐบาลต้องการส.ส.ร. ที่ตัวเองสามารถคุยกันได้ ส่วนฝ่ายค้านโดยพรรคเพื่อไทย ต้องการส.ส.ร.จากการเลือกตั้ง 100% เพราะมั่นใจในฐานการเมืองในพื้นที่ของตัวเอง 

 

ส่วน “พรรคก้าวไกล” จะนำกระแสนอกสภาฯ มากดดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ 

 

6 เหตุการณ์ทางการเมือง ที่เกิดขึ้นในเดือน “กันยายน” น่าสนใจและน่าจับตาอย่างยิ่งว่า จะมีอะไรส่งผลกระทบกระเทือนต่อเสถียรภาพของ “รัฐบาลลุงตู่” หรือไม่... 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,605 หน้า 10 วันที่ 30 สิงหาคม - 2 กันยายน 2563