วันนี้(14ต.ค.63) ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ลงโทษปลด นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ออกจากราชการ โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2549 ซึ่งเป็นวันที่คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับ และมีข้อสังเกตให้ปลัดกระทรวงการคลังดำเนินการคืนสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่นายศิโรตม์ ควรได้รับหากไม่ได้ถูกลงโทษทางวินัยตามคำสั่งดังกล่าว ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดด้วย ทั้งนี้ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
ทั้งนี้คดีดังกล่าวกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือป.ป.ชมีมติชี้มูลว่านายศิโรตม์ กระทำผิดผิดวินัยร้ายแรง จากการร่วมกันพิจารณาว่าการรับโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จากน.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี ผู้ถือหุ้นแทน คุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นการได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาและจากการให้โดยเสน่หา เนื่องในพิธีหรือโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ซึ่งกระทรวงคลังได้มีคำสั่งไล่ออกจากราชการ
และต่อมาก็มีคำสั่งลดโทษเป็นปลดออกจากราชการ ทำให้นายศิโรตม์ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาสั่งเพิกถอน ทำให้ป.ป.ช.ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
สำหรับเหตุผลที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนระบุว่า การใช้อำนาจในการชี้มูลความผิดวินัยดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตามที่บัญญัติไว้ในพ.ร.ป.ว่าด้วยป.ป.ช.2542 ซึ่งต้องมีการพิจารณาสั่งลงโทษทางวินัยต่อไปโดยผู้บังคับบัญชา ไม่ใข่การใช้อำนาจตรงตามรัฐธรรมนูญที่จะได้รับข้อยกเว้นตามมาตรา 223 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ 50 เมื่อคดีนี้นายศิโรตม์ฟ้องโต้แย้งความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งลงโทษปลดตนเองออกจากราชการที่ออกตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของก.พ. ซึ่งมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลหรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของนายศิโรตม์ จึงเป็นคำสั่งทางปกครองดังนั้นที่ป.ป.ช.โต้แย้งว่าศาลปกครองไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงฟังไม่ขึ้น
ส่วนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 658/2551 ลงวันที่ 12 พ.ค.51 เรื่องลดโทษข้าราชการเฉพาะส่วนที่ลดโทษนายศิโรตม์จากไล่ออกเป็นปลดออกจากราชการเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าการให้ความเห็นในกรณีนี้ นายศิโรตม์ มีเจตนาเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ และต่อมา น.ส.จำรัส แหยมสร้อยทอง ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายคนต่อมาได้มีหนังสือลับที่กค. 0811(สก.06)/2063 ลงวันที่ 2 ต.ค. 2544 แจ้งความเห็นดังกล่าวให้นางเบญจา หลุยเจริญ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภาษีคนต่อมาพิจารณา แล้วมีคำสั่งให้ยุติการตรวจสอบข้อมูลรายนายบรรณพจน์ และมีหนังสือลับที่กค. 0804/0155 ลงวันที่ 9 พ.ย.2544 เสนออธิบดีกรมสรรพากรทราบ โดยที่อธิบดีกรมสรรพากรไม่ได้มีคำสั่งให้ส่งเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรพิจารณาตามมาตรา 13 สัตต(3)แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด
สำหรับการที่ นายบรรณพจน์ ได้ดำเนินการรับโอนหุ้นจากคุณหญิงพจมาน หรือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผ่านระบบซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ อันเป็นการโอนหลักทรัพย์โดยอำพรางเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเงินได้ ซึ่งบุคคลดังกล่าวจะต้องรับผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หรือ เป็นเรื่องที่ต้องแยกพิจารณาภาระภาษีที่ผู้มีเงินได้พึงประเมินจะต้องเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร
เมื่อไม่ปรากฎพยานหลักฐานใดในสำนวนคดีนี้ที่พิสูจน์ได้ว่า นายศิโรตม์ ได้รับประโยชน์ที่มิควรได้จากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว หรือปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ อันเป็นเหตุให้กรมสรรพากรได้รับความเสียหาย จึงไม่อาจฟังได้ว่าพฤติการณ์ของ นายศิโรตม์ เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงและฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง มาตรา 98 วรรคสอง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2535 ตามที่ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด
ดังนั้น การที่ปลัดกระทรวงการคลังมีคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1214/2549 ลงวันที่ 29 ธ.ค. 49 ลงโทษไล่ นายศิโรตม์ ออกจากราชการ และต่อมาได้มีคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 658/2551 ลงวันที่ 12 พ.ค. 51 ลดโทษนายศิโรตม์ จากไล่ออกจากราชการเป็นปลดออกจากการราชการ ตามมติคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย