“ชวน”ทาบ“อดีตนายกฯ-อดีตปธ.รัฐสภา”ผลักดันปรองดอง

02 พ.ย. 2563 | 08:08 น.

“พระปกเกล้า”ชง  2 รูปแบบตั้ง “คกก.ปรองดอง”  ทั้งผู้แทน 7 ฝ่าย และมีคนกลาง  “ชวน”เร่งทาบอดีตนายก-อดีตปธ.รัฐสภา ปัดตอบตั้งได้เมื่อไรอ้างต้องใช้เวลา มอบเลขาฯพระปกเกล้าประสานผู้ชุมนุมเข้าร่วม  


วันนี้ (2 พ.ย.63) นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการหารือเพื่อออกแบบโครงสร้างและวิธีการทำงานของคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ กับ นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าและผู้บริหารสถาบัน 


นายชวน กล่าวว่า ทางเลขาฯ สถาบันก็ได้มีการเสนอรูปแบบการแก้ไขปัญหาเป็น 2 รูปแบบ  


รูปแบบที่ 1 เป็นไปตามที่นายจุรินทร์ เสนอคือ มีผู้แทนจากฝ่ายต่างๆ รวม 7 ฝ่าย  เช่น ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ตัวแทนของฝ่ายรัฐบาล ตัวแทนของวุฒิสภา และตัวแทนขององค์กรอื่น แต่ก็มีจุด่อน คือ หากฝ่ายใดปฏิเสธไม่ร่วมองค์ประชุมก็จะไม่ครบ หรือหารือพูดคุยไม่นานก็อาจเสร็จเร็วหรือจะล่มได้ รวมทั้งถ้ามองผิวเผิน จะมีแค่ฝ่ายรัฐบาลกับวุฒิสภา ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ก็ถือว่าน่ากังวล


รูปแบบที่ 2 มีคนกลางที่มาจากการเสนอของฝ่ายต่างๆ หรือประธานรัฐสภาเป็นผู้สรรหา หรือแต่งตั้งคณะกรรมการ ซึ่งยังไม่แน่ใจว่ากรรมการที่ไปทาบทามจะรับหรือไม่ เพราะเขาก็ต้องดูว่าปัญหาที่จะเข้ามาทำคืออะไร  


อย่างไรก็ตาม จะไปประสานกับฝ่ายต่างๆ ตามรูปแบบที่ 1 ถ้าเป็นไปไม่ได้ก็จะมาในรูปแบบที่ 2 หรือดึงรูปแบบที่ 1 กับ 2 มาประสานกัน ในส่วนของตัวบุคคล โดยอาจต้องไปถามตัวแทนของฝ่ายต่างๆ ว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ คนนอกจะมาร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งต้องไปคัดคนเอาจำนวนไม่มากแต่มีประสิทธิภาพ เข้าใจปัญหา 


“ในวันพรุ่งนี้เป็นไปได้ ผมก็จะไปพูดคุยกับผู้นำฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลเป็นการภายใน”

                                                    “ชวน”ทาบ“อดีตนายกฯ-อดีตปธ.รัฐสภา”ผลักดันปรองดอง
 


นายชวน ยังกล่าวด้วยว่า ส่วนตัวได้ประสานกับอดีตนายกรัฐมนตรี 3 คน อดีตประธานรัฐสภา ซึ่งต่างก็ห่วงบ้านเมือง พร้อมจะให้ความเห็น หรือถ้ามีโอกาสก็จะมาร่วม รวมถึงพูดคุยกับบุคคลต่างๆ เพื่อดูว่าใครสนใจในเรื่องนี้บ้าง ซึ่งยังไม่ได้กำหนดเวลาว่าคณะกรรมการฯ จะต้องเกิดขึ้นเมื่อใด เพราะต้องใช้เวลาในการประสานแต่ละคน  


ส่วนตัวแทนของผู้ชุมนุม ถ้าเข้าร่วมด้วยก็จะเป็นประโยชน์มาก จึงได้ให้ทางเลขาฯสถาบันพระปกเกล้าไปประสาน ซึ่งไม่อยากให้สื่อตั้งเงื่อนไขว่าผู้ชุมุนมจะเข้าร่วมหรือไม่ 


“เอาเป็นว่าเราเป็นฝ่ายยื่นมือเข้าไปเชิญชวนให้เขามาร่วมแก้ไขปัญหาส่วนรวม และไม่อยากให้ไปตั้งเป้าหมายว่า มันไม่มีประโยชน์หรือไม่สำเร็จ ทุกอย่างมันเริ่มต้นจากการที่คนส่วนใหญ่ในประเทศอยากเห็นบ้านเมืองสงบ วิธีไหนทำให้บ้านเมืองสงบได้ เราก็จะพยายาม”  


นายชวน กล่าวว่า ในการหารือ พูดคุยกันเฉพาะเรื่องของโครงสร้างคณะกรรมการฯ ไม่ได้มีการพูดคุยถึงข้อเรียกร้องต่างๆ รวมถึงข้อเรียกร้อง 3 ข้อของผู้ชุมนุม หรือที่ทางพรรคก้าวไกลระบุว่า ต้องมีการคุยในประเด็นปฏิรูปสถาบัน จึงจะเข้าร่วม เพราะเห็นว่าใครจะตั้งธงอย่างไรก็ได้ แต่ขึ้นอยู่กับมติของคณะกรรมการว่าจะหารือพูดคุยในเรื่องอะไรบ้าง


นายชวน ยังกล่าวถึงการเปิดสภาสมัยวิสามัญว่า เพื่อลดความกังวลของประชาชน ซึ่งข้อเรียกร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประธานวุฒิสภาได้มามีส่วนร่วม โดยมองว่าเมื่อมีสัญญาณจากนายกรัฐมนตรีในการประชุมครั้งล่าสุด ถือเป็นครั้งแรกที่นายกฯ ให้การสนับสนุน ก็ถือเป็นสัญญาณแรกที่จะลดความรู้สึกของผู้ที่อยากจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  และมีแนวโน้มว่าจะมีการแก้  
ส่วนการอภิปรายที่จะมีขึ้นนั้น ได้วางแนวว่าไม่อยากให้นำเรื่องสถาบันขึ้นมาเป็นเงื่อนไข โดยถือหลักตามรัฐธรรมนูญว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ ฉะนั้น เราพยายามจะหลีกเลี่ยงไม่ให้เป็นเงื่อนไขที่ 2 ฝ่ายทะเลาะหรือเผชิญหน้ากัน

 

 

ส่วนเรื่องการชุมนุม แม้เป็นภารกิจที่รัฐบาลดูแลอยู่  แต่ถ้ามีส่วนใดที่สภาสามารถช่วยบรรเทาปัญหาได้บ้างก็ยินดี ซึ่งได้มอบภารกิจให้เลขาสถาบันพระปกเกล้าที่มีหน่วยงาน มีบุคลากรเรื่องความปรองดอง ก็ให้มาร่วมในการทำงานด้วยโดยไม่ได้กำหนดเรื่องระยะเวลาแต่คิดว่าวิธีการที่เราพยายามแก้ปัญหาส่วนรวมก็คือพยายามคุยกันอย่างน้อยที่สุดก็จะลดความขัดแย้ง รุนแรง คุกคาม

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันพระปกเกล้าได้เผยแพร่เอกสารระบุถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการสมานฉันท์ โดยมีรายละเอียดว่า จำนวนกรรมการที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 7-9 คน 


โดยรูปแบบที่ 1 ผู้แทนจากฝ่ายต่าง ๆ ซึ่งในรูปแบบนี้ มีข้อห่วงกังวล คือ 1.ตัวแทน 7 ฝ่าย อาจมีองค์ประกอบที่ไม่สมดุล น้ำหนักเอนเอียงเข้าข้างรัฐบาล ทำให้มีกรรมการจะไม่ได้รับรับความไว้วางใจ 


2.ต้องระมัดระวังในการจัดหาผู้เอื้อกระบวนการ ซึ่งควรเป็นคณะทำงานจากหลายหน่วยงานและหลายภาคส่วน ไม่ควรผูกขาด, การจัดวาระการประชุมและการยอมรับในตัวประธานคณะกรรมการ 


3.โอกาสที่พรรคฝ่ายค้านไม่ร่วมมีสูง 


และ 4.การหาตัวแทนฝ่ายผู้ชุมนุมเป็นไปได้ยาก 


ส่วนรูปแบบที่ 2 การมีคนกลางนั้น มีข้อดีคือ ทำให้รัฐสภาเป็นพื้นที่ของการแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติ ส่วนข้อห่วงกังวล คือการยอมรับในตัวประธานคณะกรรมการและกรรมการ