วันนี้ที่ประชุมรัฐสภาได้โหวตเห็นชอบให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP(Regional Comprehensive Economic Partnership Agreement ) ด้วยคะแนนเสียง 526 เสียง โดยก่อนหน้านี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมการประชุมรัฐสภา โดยการประชุมครั้งนี้ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้นำเสนอข้อมูล รวมถึงเหตุผลความจำเป็น และประโยชน์ที่ไทยจะ ได้รับในการให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ของไทยต่อรัฐสภา
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในนามคณะรัฐมนตรีตนขอเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบการให้สัตยาบันการเข้าเป็นภาคีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือที่เรียกว่าอาร์เซป โดยข้อตกลง RCEP นั้นถือเป็นการต่อยอด FTA ระหว่างอาเซียน +1 กับประเทศต่างๆ เช่น อาเซียน + จีน,อาเซียน + ญี่ปุ่น,อาเซียน + เกาหลี ,อาเซียน + ออสเตรเลีย,อาเซียน + นิวซีแลนด์ และอาเซียน + อินเดีย รวมกันจะกลายมาเป็น RCEP ซึ่ง RCEP นี้ถือเป็น FTA ฉบับที่ 14 ของประเทศไทยถ้ามีผลบังคับใช้ในอนาคต
เริ่มแรกได้มีการเจรจามาเป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปีมีประเด็นสำคัญ 20 ประเด็นเรียกว่า 20 ข้อบท และช่วงระยะเวลา 8-9 ปีที่ผ่านมา สามารถดำเนินการบรรลุข้อตกลงได้เพียง 7 ประเด็นยังค้างอยู่ 13 ประเด็น จนกระทั่งปีที่แล้วในช่วงระยะเวลาที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนและตนได้เข้าไปทำหน้าที่เป็นประธานรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในการเข้าร่วมประชุมเพื่อดำเนินการให้บรรลุข้อตกลง RCEP อย่างที่ค้างคามา สุดท้ายปีที่แล้วเราสามารถดำเนินการให้ที่ประชุม RCEP บรรลุข้อตกลงได้ทั้ง 20 ข้อบทหรือ 20 ประเด็น แล้วนำมาซึ่งการลงนามที่ทำเนียบรัฐบาลกับท่านนายกรัฐมนตรีร่วมกับประเทศอื่นๆอีก 14 ประเทศ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563
โดยประเทศที่เข้าร่วมลงนามมีทั้งหมด 15 ประเทศ ผลของการบรรลุข้อตกลง RCEP และการลงนามนี้ RCEP จะกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมี GDP รวมกันถึง 1 ใน 3 ของโลก และประชากรในกลุ่มประเทศ RCEP 15 ประเทศนี้ มีด้วยกัน 2,200 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรโลก มูลค่าการค้าของไทยกับประเทศอาเซียนคิดเป็น 2 ใน 3 ของมูลค่าการค้าระหว่างไทยทั้งหมด ตกเป็นมูลค่าการค้า 8.5 ล้านล้านบาท ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับถ้าข้อตกลง RCEP มีผลบังคับใช้ เราจะได้รับประโยชน์ทั้งในเรื่องของการค้าสินค้าและบริการ สำหรับสินค้าจะประกอบไปด้วย สินค้าทางด้านเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม
สำหรับสินค้าเกษตรที่จะได้รับประโยชน์ เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง สินค้าประมง เป็นต้น สำหรับอาหาร เช่น ผัก ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าอุตสาหกรรม ประกอบด้วยอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า กระดาษ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องแต่งกาย และมอเตอร์ไซค์ เป็นต้น สำหรับภาคบริการ เช่นธุรกิจก่อสร้างที่ปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีศักยภาพในเรื่องนี้รวมทั้งธุรกิจในเรื่องของการค้าปลีกและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพ และธุรกิจดิจิตอลคอนเทนท์ เช่น ภาพยนตร์ บันเทิง อนิเมชั่น เป็นต้น
หลังที่ประชุมรัฐสภาถ้าให้ความเห็นชอบหน่วยงานของรัฐยังมีภารกิจอีก 4 เรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการก่อนส่งเรื่องไปให้สัตยาบันกับเลขาธิการอาเซียน ที่กรุงจาการ์ตา ประกอบด้วย
1.เรื่องที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของกรมศุลกากรต้องมีการปรับพิกัดอัตราศุลกากรจาก HS 2012 ให้เป็น HS 2017 รวมทั้งต้องออกประกาศกระทรวงการคลัง เพื่อยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรภายใต้ความตกลง RCEP
2.เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการของกรมศุลกากรให้สอดคล้องกับข้อตกลง RCEP
3.เกี่ยวข้องกับกรมการค้าต่างประเทศ ต้องไปหารือกับกลุ่มประเทศสมาชิกในเรื่องแนวปฏิบัติของการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าหรือที่เรียกกันว่าใบ C/O และปรับแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกับข้อตกลง
4.สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมจะต้องออกประกาศกระทรวงฯเรื่องเงื่อนไขการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ที่จะนำเข้ามาผลิตรถยนต์ 125 รายการ
ซึ่งเป็นภารกิจ 4 เรื่องที่หน่วยงานของรัฐจะต้องไปดำเนินการหลังจากที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบ
" หลังการดำเนินการ 4 เรื่องจบ ประเทศไทยจะได้ดำเนินการยื่นการให้สัตยาบันต่อเลขาธิการอาเซียน ที่กรุงจาการ์ตา และถือว่าจบกระบวนการให้สัตยาบันของประเทศไทย ภายหลังจากที่ประเทศต่างๆให้สัตยาบันแล้วจะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่นั้นไม่จำเป็นที่จะต้องให้สัตยาบันครบทั้ง 15 ประเทศ ถ้าในกลุ่มของประเทศอาเซียนมี 6 ประเทศ และกลุ่มนอกประเทศอาเซียนให้สัตยาบัน 3 ประเทศรวมกับ อาเซียน 6 ประเทศ เป็น 9 ประเทศก็ถือว่าให้ข้อตกลง RCEP มีผลบังคับใช้ได้ " นายจุรินทร์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรัฐสภาวันนี้ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาได้อภิปรายสอบถามซึ่งนายจุรินทร์ได้ตอบคำถามจนสิ้นสงสัย จากนั้นประธานรัฐสภาได้ให้สมาชิกลงคะแนนผ่านความเห็นชอบให้สัตยาบันความตกลง RCEP คาดว่าจะมีผลใช้บังคับปีนี้เพื่อประโยชน์ของประชาชนต่อไป สำหรับความตกลง RCEP ยังช่วยให้ผู้ประกอบการ และ SMEs ของไทยสามารถลดต้นทุนและวางแผนธุรกิจได้อย่างมี ประสิทธิภาพ รวมทั้งยังได้ประโยชน์จากกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกัน มีกฎระเบียบทางการค้าและพิธีการศุลกากรที่ โปร่งใส ชัดเจน ลดขั้นตอนและความซับซ้อนจากเดิม ซึ่งช่วยสร้างสภาวะแวดล้อมการค้าที่โปร่งใสมากขึ้น นอกจากนี้ RCEP ยังกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ รวมถึงคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์ ซึ่งจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับการค้าออนไลน์ และทำให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภคได้ประโยชน์ จากความตกลง RCEP มากขึ้น
ด้านรายงานกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า สำหรับในปี 2563 การค้าของไทยกว่าครึ่งพึ่งพาตลาด RCEP โดยการค้ารวมระหว่างไทยกับสมาชิก RCEP มี มูลค่า 2.52 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.87 ล้านล้านบาท (57.5% ของการค้ารวมของไทย) โดยไทยส่งออก ไป RCEP มูลค่า 1.23 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.83 ล้านล้านบาท (53.3% ของการส่งออกไทย) สินค้า ส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง น้ามันสำเร็จรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เป็นต้น
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวชี้แจงเพิ่มเติม ภายหลังมีสมาชิกรัฐสภาตั้งข้อสงสัย ต่อการเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ การให้สัตยาบัน การเข้าเป็นภาคีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership Agreement : RCEP) ว่า
จากการที่มีสมาชิกรัฐสภาท่านหนึ่งแสดงความสงสัยว่าเหตุใดรัฐบาลจึงต้องเร่งรีบนำเรื่องนี้เข้าสู่การประชุมของรัฐสภา หรือเป็นเพราะต้องการเร่งสร้างผลงานก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่นั้น ตนคิดไม่ถึงว่าเรื่องนี้แทนที่จะกลายเป็นเรื่องบวก แต่กลับเป็นเรื่องคิดลบได้ขนาดนี้ เพราะความจริงแล้วไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย รัฐบาลได้เสนอเรื่องนี้มาตั้งแต่ยังไม่มีญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะว่าเป็นเจตจำนงร่วมกันกับทั้ง 15 ประเทศที่ต้องการให้อาร์เซ็ปมีผลบังคับใช้โดยเร็วและทันทีที่มีการลงนามวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ตนได้สั่งการให้กรมเจรจาการค้าได้รีบดำเนินการในการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเพราะยังมีภารกิจหลังจากนี้อีก 4 – 5 เรื่อง กว่าจะนำไปเสนอการให้สัตยาบันต่อเลขาธิการอาร์เซ็ป ที่จาการ์ตาได้
นายจุรินทร์กล่าวว่า ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่เป็นความพยายามที่ต้องการเห็นเรื่องนี้สำเร็จโดยเร็ว และไม่ได้มีประเด็นทางการเมืองแต่อย่างใดทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังเห็นว่าเรื่องนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับประเทศไทย โดยเฉพาะเกษตรกรจะได้ประโยชน์เต็มๆ ซึ่งไทยมีพืชเกษตรที่มีความสามารถในการแข่งขันก็สามารถส่งออกไปยัง 14 ประเทศ โดยทำให้ภาษีเป็นศูนย์ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นแป้งมัน สินค้าประมง สับปะรด ยาง ผัก ผลไม้แปรรูป ซึ่งมีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยเป็น เอสเอ็มอี และเป็นเกษตรกรโดยตรง
นอกจากนี้จากการที่มีสมาชิกรัฐสภา แสดงความเห็นใจว่าการเจรจานั้นดำเนินการมายาวนาน หลายรัฐบาล และทราบดีว่าเป็นเรื่องยากมาก ซึ่งนายจุรินทร์ ได้กล่าวขอบคุณที่เข้าใจ เพราะตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ ตนเข้าไปดูแลกระทรวงพาณิชย์ทราบว่าเรื่องนี้ไม่ง่ายเลย ถึงต้องยาวนานมาหลายรัฐบาล ซึ่งเหนื่อยทั้งข้าราชการประจำ เหนื่อยทั้งภาคการเมือง เพราะกว่าจะผ่านไปได้แต่ละเรื่องก็จะต้องมีการเจรจาทั้งระดับเจ้าหน้าที่ ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส เพราะฉะนั้นหลายรัฐบาลที่ผ่านมากว่าจะผ่านทีละข้อบทมาให้ 7 ข้อบท และมาเร่งดำเนินการอีก 13 ข้อบทนี้ จึงต้องใช้พลังมหาศาลในช่วงระยะเวลาหนึ่งปี
อีกทั้งเรื่องนี้ยังเป็นเป้าหมายที่ได้คุยกันในรัฐบาลว่า ปีที่แล้วไทยเป็นประธานอาเซียน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นศักดิ์ศรีประเทศไทย จึงต้องการให้อาร์เซ็ปจบให้ได้ในปีที่แล้ว ขณะที่ไทยเป็นประธานอาเซียน โดยไม่ได้คิดว่าจะเป็นรัฐบาลไหนอย่างไร และในที่สุดก็สามารถดำเนินการมาได้จนเป็นผลสำเร็จ
“การเจรจาโดยเฉพาะข้าราชการก็เหนื่อยจริงๆ พวกผมก็เหนื่อยนะครับ เพราะว่าขนาดวันรุ่งขึ้นจะออกแถลงการณ์ร่วมระดับผู้นำ คือนายกรัฐมนตรีทั้ง 15 ประเทศ จะต้องมาลงนามกัน แถลงการณ์ร่วมยังออกไม่ได้ เพราะคืนนั้นยังเจรจาไม่จบ ผมต้องนั่งเป็นประธานเจรจาดำเนินการ จนกระทั่งนาทีสุดท้ายนี่ก็คือความยาก บางเรื่องต้องใช้มาตรการทางการเมืองในฐานะที่มีประสบการณ์ทางการเมือง และเพื่อจะได้เห็นบรรยากาศ ขณะเจรจามีรัฐมนตรีบางประเทศพูดยังไงก็ไม่ยอม โดยบอกว่า ท่านต้องเอาประชาชนเป็นหลัก เพราะท่านเป็นผู้แทนราษฎร ผมจึงบอกว่า ถ้าอย่างนั้นท่านต้องกังวล ผมก็เป็นผู้แทนราษฎร ผมก็ต้องเอาประชาชนเป็นหลัก ท่านเป็นกี่สมัย ท่านบอกเป็นมา 2 สมัย ผมบอกผมเป็นมา 11 สมัย สุดท้ายก็เลยหัวเราะ แล้วก็ยอมรับกันได้ว่า เราต่างก็เห็นประโยชน์ของประชาชนด้วยกัน” นายจุรินทร์กล่าว
และในที่สุดในวันรุ่งขึ้น ผู้นำทั้ง 15 ประเทศ ก็สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้ และก็นำมาสู่การลงนามวันที่ 15 พฤศจิกายน จนนำมาสู่การขอความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา โดยถัดจากนี้การดำเนินการยิ่งเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพราะเร็วเท่าไหร่ประเทศไทยก็ได้ประโยชน์จากข้อตกลงอาร์เซ็ปได้