เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ที่ให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 3.5 หมื่นล้านบาท จากเหตุขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ราชการตามอำนาจหน้าที่ เป็นทำให้กระทรวงการคลังได้รับความเสียหาย
โดยศาลเห็นว่า เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะการทุจริตเกิดขึ้นในเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่หลายคนเกี่ยวข้องแต่การสอบสวนของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดกลับมิได้มีการดำเนินสอบสวนให้ได้ว่าเจ้าหน้าที่คนใดควรต้องรับผิดเป็นจำนวนเท่าใดจากการทุจริต
อีกทั้งน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี รับรู้เกี่ยวข้องเฉพาะขั้นตอนการทำเอ็มโอยูเพื่อให้มีการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ แต่ในส่วนการทำสัญญาระบายข้าวไม่ได้เกี่ยวข้อง อีกทั้งกระทรวงการคลังก็รับว่าไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นผู้กระทำให้เกิดความเสียหายโดยตรงและขั้นตอน การตรวจสอบ ของคณะกรรมการ สอบสวนความรับผิดทางละเมิด ก็ไม่ถูกต้อง ตามที่กฎหมายกำหนด
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ผมเชื่อว่ายังไม่จบ รัฐต้อวอุทธรณ์ต่อแน่ ที่ “ศาลปกครองสูงสุด” คดีอาจจะพลิกให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 3.5 หมื่นล้านบาท จากเหตุขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ราชการตามอำนาจหน้าที่ เป็นทำให้กระทรวงการคลังได้รับความเสียหาย
สอดคล้องกับนายวิชาญ อาทากูล อดีตอนุกรรมาธิการตรวจสอบการระบายข้าวถุง ของคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ที่มี พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี อดีต ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ เป็นประธาน กล่าวว่า ตามที่ศาลปกครองกลาง เห็นว่า เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะการทุจริตเกิดขึ้นในเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ และ ในส่วนการทำสัญญาระบายข้าวไม่ได้เกี่ยวข้อง นี่เป็นของศาลที่มีความเห็นอย่างนี้ แต่ว่าเรื่องนี้รัฐบาลคงอุทธรณ์ต่อไปที่ “ศาลปกครองสูงสุด” ในความคิดเห็นส่วนตัวเห็นว่าเมื่อคุณยิ่งลักษณ์ เข้าไปเป็นฝ่ายบริหารระดับนโยบาย สั่งการ ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน
ด้านนายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ อดีต สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สรรหา ในฐานะประธานกรรมาธิการเกษตรตรวจสอบการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาลในโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด กล่าวว่า ในช่วงขณะนั้นที่ทางคณะไปตรวจสอบ“นโยบายจำนำข้าว” เป็นนโยบายอุดหนุนเกษตรกร ในประเทศไทยเป็นครั้งแรกที่มีนโยบายแบบนี้ที่เปิดช่องทุจริตทุกขั้นตอน ในขั้นตอนการตรวจสอบขณะนั้นมีการทุกจริตเกิดขึ้นจริง
ยกตัวอย่างนี้ กรณีข้าวถุง 2.5 ล้านตัน ที่ดำเนินการโดย องค์การคลังสินค้า(อคส.) ความเสียหายประมาณ 1.7 พันล้าน เป็นข้าวสารบรรจุถุงจำหน่ายให้ประชาชนในราคาประหยัดช่วยลดค่าครองชีพ (ขนาด 5 กก.ขายราคา 70 บาท) ผ่านช่องทางร้านถูกใจ โครงการธงฟ้า และร้านค้าทั่วไป แต่ลงไปตรวจสอบชาวบ้าน ร้านค้าไม่เคยเห็นข้าวถุงเลย ส่งเรื่องดังกล่าวไปถึง ป.ป.ช. เรียบร้อยแล้ว ถือว่าทางคณะฯ ได้ทำงานเสร็จลุล่วงแล้ว
ขณะที่ พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี อดีต ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการตรวจสอบการระบายข้าวถุง ของคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา กล่าวว่า ตามหลักกฎหมายที่ผมได้เข้าไปทำงาน ศาลปกครองกลาง ตัดสินถูกต้องแล้ว เพราะว่าทุกครั้งที่มีการประชุม กขช. คุณยิ่งลักษณ์เข้าไปประชุม ในฐานะประธาน กขช.แค่ครั้งเดียว ครั้งแรก แนะนำให้รู้จักกรรมการ
หลังจากนั้นได้มอบอำนาจให้คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการ ส่วนการทุจริตในโครงการจำนำข้าวไปเกิดในขั้นตอนการระบายข้าว ร่วมกับโรงสี ออกกลอุบาย เทคนิคต่างๆ ซึ่งในขั้นตอนการระบายข้าว คุณยิ่งลักษณ์ไม่เคยเข้าประชุมเลยแม้แต่ครั้งเดียว หากเป็นอย่างนี้ศาลปกครองกลางตัดสินถูกต้องแล้ว และเชื่อว่าหากอุทธรณ์ไปศาลปกครองสูงสุด เมื่อเห็นหลักฐานแบบนี้เชื่อว่าจะยืนพื้นตามศาลปกครองกลาง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง