“พิสิฐ”จี้สังคายนาดัชนีชี้วัดวินัยการคลังใหม่

01 มิ.ย. 2564 | 15:35 น.

“พิสิฐ”จี้รัฐสังคายนาดัชนีชี้วัดวินัยการคลัง และปรับปรุงระบบการคลังใหม่ หวั่นชนเพดานจากปัญหาโควิดชี้ความพยายามหลบการใช้จ่าย และไปใช้ พ.ร.บ.กู้เงิน ทำให้รัฐสภาไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบ ทำให้ระบบงบประมาณเดินสู่จุดบอด

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร(1 มิ.ย. 2564) เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565  ระบุถึงการบริหารจัดการเกี่ยวกับงบประมาณ เพราะงบประมาณเป็นเครื่องมือสำคัญของประเทศ หากเครื่องมือนี้มีปัญหา มีข้อที่น่ากังวลก็จะเป็นสิ่งที่เกิดปัญหาใหญ่หลวงในอนาคต ซึ่งในอดีตเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ประเทศไทยเคยเกิดวิกฤติจนถึงขั้นต้องให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF)เข้ามาช่วย

ดังนั้นเมื่อประเทศกำลังประสบภาวะวิกฤติด้านงบประมาณ และกำลังดำเนินการไม่เป็นไปตามกฎหมายวินัยการเงินการคลัง มาตรา 20 ระบุเรื่องการขาดดุล และเรื่องงบลงทุน แม้จะบอกว่าได้มีการแก้ไขแล้วก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ระบบงบประมาณขณะนี้กำลังเข้าสู่จุดบอดที่จะนำไปสู่ปัญหา และกำลังจะชนเพดาน เนื่องจากปัญหาโควิด

“ผมไม่โทษรัฐบาล ผมไม่ได้มาตำหนิรัฐบาล แต่ผมพยายามหาทางให้เราช่วยดูแลเรื่องระบบงบประมาณให้ดี เพื่อจะได้ให้เป็นเครื่องมือที่สำคัญของประเทศ ผมเป็นห่วงมากครับ ที่ท่านนายกฯ ชี้แจงเมื่อวานนี้ว่าจะแก้ปัญหาเรื่องงบลงทุน โดยการเพิ่มแหล่งลงทุน ช่องทางอื่น ๆ ต่าง ๆ โดยเฉพาะใช้การกู้เงินตาม พ.ร.บ.หนี้มากขึ้น ผมยืนยันว่านั่นไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหางบประมาณ แต่จะทำให้ระบบงบประมาณยิ่งอ่อนแอลง” ดร.พิสิฐกล่าว

พร้อมกับยืนยันอีกด้วยว่า การพยายามหลบการใช้จ่าย และไปใช้ พ.ร.บ.กู้เงิน ทำให้รัฐสภาไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบ ไม่ได้เห็นข้อมูลต่าง ๆ ประชาชนจะไม่ทราบที่มาที่ไป เมื่อประกาศ พ.ร.ก. ให้ไปใช้จ่ายได้จะทำให้ระบบงบประมาณเสียหายมาก ดังนั้นการใช้กฎหมายกู้เงินจึงไม่ใช่หลักงบประมาณที่ดี แต่วิธีการที่จะทำได้ในเวลานี้ ก็ไม่ได้หมายถึงว่าจะต้องไปตัดรายจ่าย เพราะสถานการณ์ตอนนี้จะต้องช่วยประชาชน และเศรษฐกิจโดยการใช้จ่าย แต่จะต้องให้เวลา ซึ่งในกฎหมายการเงินการคลังก็ระบุว่า มีการให้จัดทำแผนการคลังระยะปานกลาง ซึ่งเป็นการดูแลเรื่องรายได้ และคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีการพูดคุยไปแล้วเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ที่จะต้องมีแนวทางเพิ่มศักยภาพทางการคลัง 3Rs  Reform - Reshape-Resilience

“พิสิฐ”จี้สังคายนาดัชนีชี้วัดวินัยการคลังใหม่

ทั้งนี้ ดร.พิสิฐ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยในเรื่องแผนการคลังระยะสั้นที่อาจจัดงบเพื่อดูแลเศรษฐกิจที่ขาดการใช้จ่าย และที่อยากเห็นเพิ่มเติมคือควรจัดสรรงบเพื่อมุ่งเป้าไปสู่การแก้ปัญหาโควิดโดยตรง งบที่ยังไม่จำเป็นก็อาจจะรอไว้ก่อนได้ ที่สำคัญคือ ถ้าหากโควิดหายไป เราจะต้องกลับฟื้นมาได้ และกลไกของรัฐทั้งระบบการคลัง และงบประมาณจะต้องกลับมาเป็นปกติด้วย

เมื่อ 40 ปีก่อนประเทศไทยประสบวิกฤติการคลัง สำนักงบประมาณใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยการเข้าสู่ระบบ Zero-based budgeting (ZBB) และเป็นที่มาที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2530 เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วจากการลงทุนต่างประเทศ แต่เวลานี้การคลัง และงบประมาณของไทยกำลังมีวิกฤติ เพราะรายจ่ายด้านต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เงินที่จะนำมาใช้ในการลงทุนที่เป็นประโยชน์ด้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบกลาง กว่า 70% เป็นงบสวัสดิการข้าราชการ ดังนั้นจึงอยากให้ได้แยกหมวดนี้ให้ชัดเจน มิฉะนั้นการนำงบกลางมาปนกับงบสวัสดิการจะทำให้การตรวจสอบเรื่องการบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพได้

สำหรับตัวชี้วัดที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ดร.พิสิฐ กล่าวว่า เป็นตัวชี้วัดที่ไม่มีผลต่อการสร้างวินัยการเงินการคลัง และกลับเป็นการสร้างปัญหาระหว่างหน่วยงาน ซึ่งสำนักงบประมาณไม่ได้ตั้งงบหลายงบที่กระทรวงการคลังรับผิดชอบ เช่น งบชำระหนี้ งบสวัสดิการ ทำให้ต้องมีการใช้เงินคงคลัง ด้านกระทรวงการคลังจึงต้องหันมาชูตัวชี้วัดเหล่านี้ใน พ.ร.บ.วินัยการคลัง ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องสังคายนาตัวชี้วัดเหล่านี้ พร้อมกับการปรับปรุงระบบการคลัง

ดร.พิสิฐ กล่าวว่า ความจริงแล้ว ระบบจะต้องมีความยืดหยุ่น มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เงินทุกบากที่ได้จากภาษีอากรของประชาชน ควรต้องมาใช้จ่ายให้เป็นประโยชน์ เมื่อเข้าสู่ภาวะปกติระบบการคลังต้องเป็นที่น่าเชื่อถือ แต่เวลานี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ฐานะการคลังรัฐบาล และหนี้รัฐบาลกำลังจะเป็นปัญหาใหญ่ เพราะการใช้จ่ายเพื่อแก้วิกฤติโควิด-19 ที่มีการกู้เงิน 1 ล้านล้าน และอีก 5 แสนล้าน บวกกับรายได้ของรัฐที่ตกต่ำเพราะเศรษฐกิจฝืดเคือง

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา นายกฯ ได้ประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการคลังหลายฉบับ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี 60 พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ 2561 และพ.ร.บ.วินัยการคลัง 2561 อย่างเรื่องของสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ก็ได้ระบุเอาไว้ว่าจะต้องมีไม่เกิน 60% แต่ในเวลานี้หนี้สาธารณะกำลังเข้าสู่ตัวเลขที่เกิน 60% แม้จะมีความพยายามแต่งตัวเลข GDP ก็ตาม

“ผมไม่อยากให้เราเข้าสู่การทำผิดกฎหมาย โดยที่เราอนุมัติงบประมาณไป เพราะงบประมาณปี 2565 จะมีการขาดดุลถึง 7 แสนล้าน ดังนั้นเมื่อที่ประชุมแห่งนี้เราจะต้องอนุมัติงบประมาณปี 65 และถ้าหากอนุมัติก็จะเท่ากับเปิดทางให้รัฐบาลทำผิด พ.ร.บ.วินัยการคลังที่นายกฯ เซ็นไป” ดร.พิสิฐกล่าว

และนอกจาก พ.ร.บ.วินัยการคลังแล้ว ใน รธน.60 ก็ระบุไว้ว่า การทำงบประมาณจะต้องใช้ พ.ร.บ.วินัยการคลัง ซึ่งใน พ.ร.บ.วินัยการคลังนี้ก็ระบุว่าจะต้องดูแลเรื่อง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณที่ดี ในการจัดทำงบประมาณประจำปี แต่จากคำแถลงของนายกรัฐมนตรีวานนี้ ยังมีความไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย เพราะใน พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2561 มาตรา 10 (1) ระบุไว้ชัดเจนว่า นายกฯ จะต้องแถลงฐานะการคลัง แต่ในคำแถลงของนายกฯ วานนี้เป็นเพียงการกล่าวถึงตัวเลขหนี้เก่าก่อนเริ่มงปม65. หรือเงินคงคลังที่ไม่ใช่ฐานะการคลัง ตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งกระทรวงการคลังสามารถทำรายงานฐานะการคลังได้ แต่กลับไม่นำมาแสดง นอกจากนั้นใน มาตรา 11 ก็จะต้องแถลงถึงวิธีการหาเงินด้วยแต่ในคำชี้แจงนั้นกลับไม่มีการแถลง

“ผมไม่อยากเห็นเราทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายเหล่านี้ ท่านนายกฯ เป็นคนเซ็นเองทั้ง 3-4 ฉบับ เราไม่แสดงฐานะการคลัง เราไม่แสดงหนี้ที่เสนอเพิ่มเติม และไม่แสดงวิธีการหาเงินตามที่ระบุในกฎหมาย ที่ผมต้องท้วงติงเพื่อจะให้ระบบของเรามีความโปร่งใส ตรวจสอบได้” ดร.พิสิฐกล่าวในที่สุด

https://youtu.be/qFW_7sqe91c

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

"วิรัช" มั่นใจอภิปรายงบฯปี65 ราบรื่น

“พิสิฐ”ห่วงพรก.เงินกู้ “คนตัวเล็ก” ไม่ได้ประโยชน์

"ดร.พิสิฐ" ติงกรณีการตีความสถานภาพ ธ.กรุงไทย ถือเป็นความไม่สมบูรณ์ของระบบบริหารราชการแผ่นดิน

อภิปรายงบ 65 เดือด "ภูมิใจไทย" รุมขย่มรัฐบาลลุงตู่