ป.ป.ช.ฟัน“อดีตผกก.สภ.ทุ่งสง”ทุจริตอมค่าเบี้ยเลี้ยงตำรวจช่วยโควิด

14 มิ.ย. 2564 | 05:15 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มิ.ย. 2564 | 05:19 น.

ป.ป.ช.ชี้มูล "พ.ต.อ.สมพงศ์ ทิพย์อาภากุล" อดีตผกก.สภ.ทุ่งสง นครศรีธรรมราช ผิดอาญา ม.157 วินัยร้ายแรง และให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง ปมทุจริตค่าเบี้ยเลี้ยงตร.ช่วยโควิด-19

วันนี้(14 มิ.ย.64) นายนิวัติไชย เกษมมงคล โฆษกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า จากการไต่สวน ชี้ว่าการกระทำของ พ.ต.อ.สมพงศ์ ทิพย์อาภากุล อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ทุจริตเงินจัดสรรค่าตอบแทนหรือค่าเบี้ยเลี้ยงงบโควิด-19 ของสถานีตำรวจภูธรทุ่งสง หลังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) จัดสรรงบสำหรับค่าตอบแทน การปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ได้รับคำสั่งให้ปฎิบัติงานนอกที่ตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง 

โดยจัดสรรในอัตราคนละ 60 บาทต่อชั่วโมง เบิกจ่ายตามที่ปฏิบัติงานจริงแต่ไม่เกิน 7 ชั่วโมงต่อวันทั้งในวันราชการและวันหยุดราชการ ตั้งแต่วันนี้ 27 มีนาคม 2563 จนกว่าสถานการณ์แพร่ระบาดโควิดจะยุติลง

โดย พ.ต.อ.สมพงศ์ ได้แจ้งให้ตำรวจ กว่า 200 คน ใน สภอ.ทุ่งสง ทราบถึงการได้รับสิทธิค่าตอบแทนทุกคนคนละ 15,000 บาท เมื่อ 29 กันยายน 2563 และยังได้สั่งให้ตำรวจที่ได้รับเงินเกินจาก 15,000 บาท นำไปบริจาคให้กับสถานีตำรวจภูธรทุ่งสง เพื่อนำไปจัดสรรให้กับตำรวจที่ได้รับการจัดสรรน้อยกว่า 15,000 บาท โดยอ้างว่าเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันและ เพื่อความสามัคคีในสถานีตำรวจภูธรทุ่งสง  และยังนำเงินบริจาคบางส่วนไปใช้เป็นเป็นกองกลาง เพื่อจัดเลี้ยงสังสรรค์และจัดหาอุปกรณ์ในการปฏิบัติงาน 

 

โดยตำรวจหลายคนไม่เห็นด้วย แต่ไม่มีใครโต้แย้งหรือคัดค้าน ซึ่งหลังจากปรากฏข้อเท็จจริง ได้ดำเนินการเรียกเก็บเงินเบี้ยเลี้ยงงบโควิด-19 ไปแล้ว ไม่ได้สรรให้กับตำรวจที่ได้รับการจัดสรรน้อยกว่า 15,000 บาท รวมถึงตำรวจที่ไม่มีสิทธิ์จะได้รับเพื่อให้ถึงจำนวน 15,000 บาท โดยมีตำรวจบางรายที่ไม่เห็นด้วยและไม่ยอมดำเนินการตาม พ.ต.อ.สมพงศ์ ก็ออกคำสั่งย้ายปรับเปลี่ยนหน้าที่ตำรวจผู้นั้น เพื่อไม่ให้ข้าราชการตำรวจรายอื่นถือเป็นตัวอย่าง

ป.ป.ช.ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนและชี้มูล พ.ต.อ.สมพงศ์ ทิพย์อาภากุล อดีต ผกก.สภอ.ทุ่งสง มีความผิดฐานทุจริตงบโควิด-19 โดยความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.มาตรา 172 ชี้มูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีศาล ตามเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี พร้อมทั้งส่งรายงานไปยังผู้บังคับบัญชา หรือ ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน เพื่อดำเนินการตามมาตรา 91 ของกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตต่อไป