ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว Korn Chatikavanij โดยระบุว่า ในวันนี้ ครม. จะพิจารณามาตรการเยียวยา โดยที่เป็นครั้งแรกที่จะมีการพิจารณาการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยตรง
1. ลูกจ้างในระบบที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของรัฐบาลจะได้ชดเชยโดยกองทุนประกันสังคม 50% (สูงสุด 7,500 บาท)
2. รัฐบาลจะชดเชยให้เพิ่มเติมรายละ 2,000
3. รัฐบาลจะชดเชยให้นายจ้าง คิดจากจำนวนลูกจ้างคนละ 3,000 บาท แต่ไม่เกิน 200 คน (ไม่เกิน 600,000บาท)
4. ลูกจ้างนอกระบบจะขึ้นทะเบียนเพื่อรับ 2,000 ได้ต่างหาก
5. นายจ้างนอกระบบจะให้ขึ้นทะเบียนผ่านแอป ‘ถุงเงิน’ เพื่อรับ 3,000 บาท
ทั้งหมดนี้ให้เดือนเดียว และใช้งบ 7,500 ล้านบาท (ซึ่งเกือบครึ่งมาจากกองทุนประกันสังคม)
“ต้องบอกตรงๆว่าถูกทาง แต่น้อยเกินไปมากน้อยเกินไป ที่จะให้เขาอยู่ได้ สูงสุด 9,500 บาทน้อยกว่าค่าแรงขั้นตํ่าด้วยซ้ำไป และให้แค่เดือนเดียว น้อยเกินไป เมื่อเทียบกับเงินที่มีในมือรัฐบาล น้อยเกินไป ที่จะให้ผู้เดือดร้อนคลายความกังวลว่าหากสถานการณ์ยืดเยื้อเขาจะอยู่อย่างไร”
ทั้งนี้นายกรณ์ ได้ประเมินตามข้อเท็จจริงโดยระบุว่า ช่วงเดือนที่ผ่านมาเประเทศไทยฉีดวัคซีนได้มากสุด 470,000 ต่อวัน ลดลงมาเหลือ 90,000 เมื่อวานซืน เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 250,000 เข็ม ซึ่งหากตามนี้จะฉีดได้เพียง 30 ล้านโดสใน 120 วัน ห่างไกลจากเป้าหมาย 70% ของประชากร
นอกจากนั้น สถานการณ์แพร่เชื้อปัจจุบัน รวมถึงการฉีดวัคซีนที่ยังติดขัด หมายความว่าอาจมีผู้ป่วยเพิ่มเติมได้วัน 3-4,000 คนไปอีกนับเดือน เตียงที่ขาดอยู่แล้วจะเป็นปัญหาหนักขึ้น
ดังนั้นการเปิดประเทศตามที่นายกฯเสนออาจเป็นไปได้ยาก เพราะเงื่อนไขที่กำหนดไว้ให้กับภูเก็ตในการเปิด ‘ภูเก็ต sandbox’ คือ 70% ของชาวภูเก็ตต้องได้รับวัคซีน เราจึงใช้มาตรฐานเดียวกันกับแผนการเปิดประเทศ หากเป็นเช่นนั้น เศรษฐกิจซึมอีกยาว และอาจจะยาวไปถึงต้นปีหน้า
ดังนั้นการประกาศมาตรการออกมารองรับเพียง 1 เดือน จึงไม่สมเหตุสมผล อย่างน้อยควรครอบคลุม 3 เดือน ทุกคนจะได้มั่นใจ และทุกคนจะได้เตรียมตัวและเตรียมใจ และการใช้งบเพียง 7,500 ล้านในการเยียวยา เทียบกับวงเงินกู้ 500,000 ล้าน ผมมองว่าน้อยไปมาก
“ผมเองอยากประกาศมากกว่านั้นด้วยซ้ำ บอกไปเลยว่าสถานการณ์อาจยืดเยื้อ วัคซีนมีแนวโน้มจะมาช้า (ได้ยินว่า AstraZeneca ของเราจะได้รับส่งแค่ครึ่งเดียวเทียบกับแผนการส่งมอบเดิม เพราะเขาต้องแบ่งให้ประเทศอื่นตามสัญญา) ดังนั้นรัฐบาลควรชัดเจนว่าได้ปรับแผนการจัดหาวัคซีนแล้วอย่างไร และที่สำคัญเตรียมกำลังเงินไว้แล้วเท่าไรเพื่อพร้อมเยียวยาประชาชนให้ได้อีกอย่างน้อย 6 เดือน หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ผมไม่อยากเห็นรัฐบาลออกมาตรการรายเดือนไปเรื่อยๆ ในขณะที่งบประมาณแผ่นดินก็ใช้ไปตามปกติเหมือนไม่รับรู้ว่าเราอยู่ในช่วงวิกฤตที่ต้องรื้อแผนเดิมเกือบทุกแผน เราต้องประเมินความต้องการจากสถานการณ์จริง "เราต้องกล้าพูดความจริง" มิเช่นนั้นผมว่าประชาชนจะหมดหวัง และหมดกำลังใจ หากเราเห็นความเป็นมืออาชีพของรัฐบาล ผมเชื่อว่าทุกคนพร้อมเข้าใจกับทุกข้อจำกัด และพร้อมสู้กับทุกปัญหาครับ”