จี้รัฐทบทวนคำสั่งซื้อวัคซีน "ซีโนแวค" 10.9 ล้านโดส 6,100 ล้านบาท

08 ก.ค. 2564 | 04:00 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ค. 2564 | 11:05 น.

สมาคมทนายความฯ จี้ รัฐบาลทบทวนคำสั่งซื้อ ซีโนแวค 10.9 ล้านโดส วงเงิน 6,100 ล้านบาท อ้างข้อถกเถียงทางการแพทย์ระบุว่า ซิโนแวค ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย หรือ สายพันธุ์อื่นที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศขณะนี้ได้ และเงินที่ใช้เป็นภาษีประชาชน

8 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ในฐานะนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ในนาม สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 ก.ค.64 กรณีอนุมัติให้มีคำสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติม 10.9 ล้านโดส วงเงิน 6,100 ล้านบาท เนื่องจากเห็นว่า ไม่มีประสิทธิในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ให้กับประชาชนและเงินที่ใช้ในการจัดซื้อวัคซีนก็เป็นเงินที่มาจากภาษีของประชาชน

ในแถลงการณ์สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ฉบับนี้ระบุว่า ตามที่ได้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ซึ่งเป็นโรคติดต่อได้ง่ายและเป็นอันตรายอย่างมากต่อชีวิตของผู้ได้รับเชื้อซึ่งต่อมานายกฯได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดนั้น

โดยที่โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายทั้งตามประกาศขององค์การอนามัยโลก และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว รัฐจึงมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง

ส่วนประชาชนก็ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอันเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 55 และ มาตรา 47 วรรคสาม

 เพื่อป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายดังกล่าว รัฐบาลได้สั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคมาฉีดให้กับประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้มีการสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติมอีกจำนวน 10.9 ล้านโดส ในวงเงินจำนวน 6,100 ล้านบาท

แต่ปัจจุบันเกิดข้อถกเถียงทางการแพทย์ว่า วัคซีนดังกล่าวไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย (Delta) หรือสายพันธุ์อื่น ๆ ที่กำลังแพร่ระบาดทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยในขณะนี้ได้ วัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพเพียงป้องกันไม่ให้ผู้ที่ติดเชื้อต้องเสียชีวิตลงเท่านั้น

ดังนั้น การสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคและการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้มีการสั่งซื้อเพิ่มเติมดังกล่าวจึงมิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและขัดต่อกฎหมายทำให้ประเทศชาติและประชาชนได้รับความเสียหาย

ส่วนที่อ้างว่า รัฐบาลจะต้องปฏิบัติตามสัญญาที่ลงนามไว้แล้วนั้น สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เห็นว่า วัตถุประสงค์ของการซื้อขายวัคซีนเพื่อนำมาฉีดให้กับประชาชน ป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสดังกล่าว ดังนั้น หากวัคซีนดังกล่าวไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อที่กลายพันธุ์ได้ รัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายผู้ซื้อย่อมมีสิทธิที่จะยกเลิกสัญญาหรือปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ เพราะวัคซีนที่จะส่งมอบมิได้มีคุณสมบัติเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสัญญา

สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย จึงขอเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีได้ทบทวนการสั่งซื้อวัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพที่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ให้กับประชาชน เพราะเงินที่ใช้ในการจัดซื้อเป็นเงินที่มาจากภาษีของประชาชน

จึงต้องดำเนินการให้สมประโยชน์แก่ประชาชนและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย การดำเนินการหรือให้ความเห็นชอบกับกระบวนการที่มิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย คือ การปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ยินดีเป็นตัวแทนของประชาชนเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องอันเป็นการปกป้องผลประโยชน์และชีวิตของประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว

จี้รัฐทบทวนคำสั่งซื้อวัคซีน \"ซีโนแวค\" 10.9 ล้านโดส 6,100 ล้านบาท