แลนด์ลอร์ดตีพุง ภาษีที่ดิน ลดยาว 90%

16 ม.ค. 2564 | 19:00 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2564 | 02:05 น.

ขยายเวลาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% แลนด์ลอร์ด เศรษฐีที่ดินรายใหญ่ ตีปีก ได้อานิงส์ เปลี่ยนที่ดินรกร้าง เป็นที่ดินทำการเกษตร ใช้สิทธ์ลดอัตราภาษีลงได้อีกมาก 

รัฐบาลขยายเวลาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา หวังลดภาระประชาชนตลอดจนเจ้าของกิจการที่ได้รับผลกระทบการระบาดโควิดอีกระลอก อีกทั้งกระทรวงการคลังยืนยันใช้ราคาประเมินที่ดินรอบบัญชีเดิมปี 2559 -2563 ส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีปัญหางบพัฒนาสาธารณูปโภค-บริการสาธารณะอาจต้องสะดุดลง

 

โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ขณะผลดีตกอยู่กับแลนด์ลอร์ด เศรษฐีที่ดินรายใหญ่ นอกจากได้อานิงส์ลดภาระภาษีที่ดินแล้ว ยังมีเวลาเปลี่ยนที่ดินรกร้างเป็นที่ดินทำการเกษตร ใช้สิทธ์ลดอัตราภาษีลงได้อีกมาก 

 

จากตัวอย่างความฮือฮา ของบริษัท แหลมทองค้าสัตว์ จำกัดนำที่ดินแปลงรัชดาฯ ติดสถานีศูนย์วัฒนธรรม แห่งประเทศไทย รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน-สายสีส้มปลูกมะนาวในบ่อซิเมนต์บนเนื้อที่ราว 25 ไร่จุดประกายให้ที่ดินหลายแปลงกลายเป็นสวนกลางเมือง

 

ขณะที่ดินแปลงใหญ่อีกแปลงเนื้อที่ 29ไร่ซึ่งมีพื้นที่ติดกับแหลมทองค้าสัตว์ นายสาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล  จำกัด(มหาชน) (PRINC)  ยอมรับว่า ต้องการเสียภาษีให้ท้องถิ่นอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยไม่มีการหลบเลี่ยงนำที่ดินเปลี่ยนแปลงไปทำการเกษตรเพียงแต่ปัจจุบันเก็บไว้รอจังหวะพัฒนาในอนาคต 

 

ส่องค่าใช้จ่ายภาษีที่ดิน ปี 64

 

อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐขยายเวลาลดการจัดเก็บภาษีลง 90% มองว่าเป็นผลดีกับทุกฝ่าย ในสถานการณ์ไม่ปกติ สอดคลองกับกรมที่ดินยอมรับว่า ที่ดินจำนวนมากในกทม.ย่านธุรกิจสำคัญเปลี่ยนสถานะจากที่รกร้างไม่ทำประโยชน์เป็นสวนกล้วย มะม่วง มะนาว  และมีเวลานำที่ดินออกทำการเกษตรมากขึ้น ซึ่งสามารถทำได้ ไม่มีข้อห้ามและกระทรวงการคลังเปิดช่องไว้

 

เห็นได้จากสองฝากฝั่งถนนพระราม 9 และเลียบทางด่วน เอกมัย-รามอินทรา อีกทั้งที่ดินแปลงทองคำฝังเพชรย่านกรุงเทพฯชั้นในสาทร-สุขุมวิทปัจจุบันเต็มไปด้วยสวนผลไม้ สะท้อนว่า  มาตราการคลายการถือครองที่ดินในมือเศรษฐีเป็นไปได้ยากยิ่ง หากรัฐยังช่วยผ่อนปรน

 

เช่นเดียวกับ ที่ดินติดถนนลาดพร้าวเยื้องแมคโครและเดอะมอลล์บางกะปิ ร่มรื่นกลายเป็นป่าไผ่  และที่ดินแปลงงามของ บริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด(มหาชน) เนื้อที่ 12 ไร่ ตลาดแฮปปี้แลนด์เก่า มูลค่าไม่ต่ำกว่า 2,500 ล้านบาท เดิมมีแผนพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม 2,000 หน่วยแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง แต่จังหวะเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้อหาย ซัพพลายสูง เกิดสถานการณ์โควิดจึงต้องชะลอขึ้นโครงการและปลูกกล้วยไปพราง เพื่อลดค่าใช้จ่ายทางภาษี

 

อีกทั้งมองว่า น่าจะเกิดผลดี สร้างความร่มรื่นให้กับ ชุมชน อีกทำเลที่ดินผืนใหญ่ติดถนนศรีนครินทร์ และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ตลอดจนที่ดินย่านบางนา-ตราดหลายแปลงได้พัฒนาเป็นแปลงเกษตรกรรม  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะทั้งเจ้าของที่ดินไม่ต้องการขาย, ที่ดินมรดกตกทอด บรรพบุรุษหวงแหน, ที่ดินดีเวลอปเปอร์รอพัฒนา, ที่ดินรอขายฯลฯ เรียกว่ามองไปทางไหนในกรุงเทพฯ เวลานี้ดาษดื่นตาเต็มไปด้วยดงกล้วย  

 

อย่างไรก็ตามหากเทียบกับสถานการณ์ปกติไม่ลดอัตราภาษีที่ดินและใช้ราคาประเมินที่ดินใหม่ผู้ถือครองจะได้รับผลกระทบสูง เพราะมูลค่าที่ดินสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด สะท้อนว่าสำหรับผู้ประกอบการและเจ้าของที่ดินทั่วไปที่ปล่อยที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือเก็บที่ดินเป็นสมบัติตกทอดกันมานานหลายรุ่น จะต้องมีภาระในการเก็บที่ดินเหล่านั้นแล้ว และเป็นภาระที่ค่อนข้างสูงด้วยเมื่อเทียบกับที่ดินที่ใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ

 

คือ ที่ดินที่เจ้าของปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าต้องเสียภาษีที่ดินในอัตรา 0.3-0.7% ขึ้นอยู่กับมูลค่าทรัพย์สิน ระหว่างปี 2563-2564 และขยับเป็น 1.2% ในปี 2566 หากเจ้าของที่ดินรายใดปล่อยที่ดินไว้ติดต่อกัน 3 ปี โดยไม่ได้ทำประโยชน์อัตราภาษีจะเพิ่มขึ้น 0.3% ทุกๆ 3 ปี แต่สุดท้ายแล้วจะไม่เกิน 3%

 

การที่รัฐบาลกำหนดแบบนี้เพื่อไม่ให้เกิดการกักตุนที่ดินหรือมีนิติบุคคลรายใดมีที่ดินสะสมไว้มากมายแม้ว่าจะไม่สามารถทำได้แบบที่ตั้งใจก็ตา, เพราะเจ้าของที่ดินรายใหญ่ในประเทศไทยมีการใช้ประโยชน์บนที่ดินเกือบทั้งหมดอยู่แล้วโดยเฉพาะที่จำนวนมากในต่างจังหวัดของพวกเขาที่เปลี่ยนเป็นที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหมดแล้วก่อนหน้านี้เพราะที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมมีภาระภาษีที่ดิน ต่ำที่สุด   

 

 

โดยเกษตรกรที่มีที่ดินที่มีมูลค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาทไม่ต้องเสียภาษีที่ดินฯ แต่ถ้ามีส่วนที่เกินจาก 50 ล้านบาทเสียภาษีในอัตราไม่เกิน 0.15% โดยคิดเป็นขั้นบันไดตามมูลค่า และในช่วงตั้งแต่ปี 2563-2565 ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีที่ดิน สำหรับเจ้าของที่ดินที่เป็นบุคคลธรรมดา แต่กรณีนิติบุคคลช่วง 2 ปีแรก คือปี 2564-2565 เสียภาษีในอัตรา 0.01 - 0.1% ขึ้นอยู่กับมูลค่าทรัพย์สิน และตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไปเสียภาษีที่อัตราไม่เกิน 0.15%

 

เมื่อพิจารณาดูเรื่องของอัตราภาษีที่ดินระหว่างที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมที่ดินรกร้างว่างเปล่าและพาณิชยกรรม จะเห็นได้ว่าภาระภาษีที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมมีอัตราต่ำที่สุดเจ้าของที่ดินหลายรายที่มีที่ดินจำนวนมากแล้วปล่อยทั้งไว้หลายปีแล้วหรือยังไม่ได้ทำประโยชน์รวมไปถึงยังไม่สามารถขายออกไปได้ในช่วงเวลานี้ ได้มีการเปลี่ยนที่ดินเหล่านี้มาใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรกรรมแบบที่เห็นหลายแปลงในกรุงเทพมหานคร

 

แต่สุดท้ายต้องเสียภาษีที่ดินอยู่ดีเพราะที่ดินในกทม.ที่นำมาทำการเกษตรกรรมมีมูลค่าที่ดินสูงกว่า 50 ล้านบาท แต่หากต้องการเสียในอัตราการใช้ประโยชน์เพื่อเกษตรกรรมต้องศึกษากฎหมายลูกให้ละเอียดด้วยว่าต้องปลูกพืชชนิดใดจำนวนเท่าใดต่อ 1 ไร่ เช่น กล้วยหอม 200 ต้นต่อ 1 ไร่  มะม่วง 20 ต้นต่อ 1 ไร่ ส้มเขียวหวาน 45 ต้นต่อ 1 ไร่ หรือมะนาว มะนาว 50 ต้นต่อไร่ 

 

หากเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรายใดไม่เสียภาษีที่ดินตามที่ถูกเรียกเก็บจะถูกสำนักงานที่ดินระงับการโอนกรรมสิทธิ์ ทำนิติกรรมต่างๆ จนกว่าจะชำระภาษีให้ถูกต้อง นอกจากนั้นยังเสียเบี้ยปรับในอัตรา 10 - 40% ของภาษีที่ค้างชำระซึ่งเบี้ยปรับจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าชำระภาษีล่าข้ามากแค่ไหน อีกทั้งใครก็ตามที่เสียภาษีล่าช้าจะโดนปรับเพิ่มขึ้นในอัตรา 1% ต่อเดือนของจำนวนภาษีที่ค้างชำระ   

 

ดังนั้นห้ามลืม เพราะภาษีที่ดินยังถือเรื่องใหม่ หลายคนยังสับสน แต่สำหรับแลนด์ลอร์ดแล้วมองว่าไม่ระคาย และฟันธงว่าภาษีที่ดินจะลดอัตราการจัดเก็บไปจนกว่าโควิดจะหมดไป!!! 

 

ที่มา : หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,645 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ.

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กทม.ขยายเวลาตรวจที่ดิน-สิ่งปลูกสร้างเสียภาษีถึงสิ้นเดือน ม.ค. 64

ตรวจสอบบัญชีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 31 ม.ค. 2564 วันสุดท้าย

นายกฯสั่งลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% โอนเหลือ 0.01%

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ความไม่พร้อมรัฐทุกข์ซ้ำประชาชน

ฝันร้าย“อปท.” รัฐลดภาษีที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง