ย้อนรอย ปี 2563 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กระอัก เจ็บตัว จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 อย่างฉับพลัน และผลพวงจากพิษเศรษฐกิจตลอดทั้งปี ส่งผลผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ชะลอการเปิดโครงการใหม่ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม และเน้นระบายสต็อกคงค้างแทน โดยใช้การลดราคาสูงสุดกว่า 40% เพื่อกระตุ้นการซื้อและโอนกรรมสิทธิ์ ควบคู่การจัดการ บริหารต้นทุน- ค่าใช้จ่าย เป็นหลัก เป็นทางเลือกในการกอบกู้รายได้ จนผ่านพ้นวิกฤติเอาตัวรอดกันมาได้
ขณะต้นปี 2564 นั้น ผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หลายราย ประกาศแผนการลงทุน หรือ แผนการเปิดขายโครงการบ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียมใหม่อย่างคึกคัก หลังจากแสดงความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว ท่ามกลางการระบาดระลอก 2 ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ปลายปี 2563 ยังดำเนินต่อเนื่อง
ทั้งนี้ พบ ณ ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัย มีสัญญาณที่ดีขึ้น โดย บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom: LWS) บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้รายงานว่า การเปิดตัวโครงการใหม่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในไตรมาสแรกของปี 2564 นั้น แม้จำนวนการเปิดตัวใหม่มีทั้งสิ้น 9,688 หน่วย ลดลง 45.72% แต่มีมูลค่ารวมของการเปิดตัวโครงการใหม่ 70,156.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.81% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2563 เป็นผลมาจากการเปิดขายโครงการอาคารชุดพักอาศัยในระดับราคาสูง
ขณะที่อัตราการขายของโครงการเปิดตัวใหม่ในไตรมาสแรกปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 20% ซึ่งสูงกว่าอัตราการขายที่ 16% ในระยะเดียวกันของปี 2563 โดยแบ่ง เป็นการเปิดตัว อาคารชุดพักอาศัย 4,897 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 50.54% จากจำนวนการเปิดตัวโครงการใหม่ทั้งหมด และเป็นการเปิดตัวของบ้านพักอาศัย 4,791 หน่วย คิดเป็น 49.46% คิดเป็นมูลค่า 23,588 ล้านบาท
ทั้งนี้ พบ ข้อมูลผลดำเนินงาน ที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ของตลาด ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวม 10 รายอสังหาริมทรัพย์หลัก ส่วนใหญ่ มียอดขายและรายได้ ณ งวด 3 เดือนแรก (มกราคม - มีนาคม ) ไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ปรับตัวดีขึ้น ทำรายได้ ได้ประมาณ 1 ใน 4 ของเป้าที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการ ที่ผลักดันโปรดักส์แนวราบ บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ บ้านแฝด เป็นหลัก รวมถึง บริษัทที่สามารถทำผลงานการโอนกรรมสิทธิ์ในกลุ่มโครงการคอนโดมิเนียมที่ก่อสร้างแล้วเสร็จได้ดีเยี่ยม ขณะบางราย ยอดขายที่ทำได้ลดลงในช่วงปีก่อนหน้า และแคมเปญการลดราคา ทำให้ผลกำไรติดลบ ดังต่อไปนี้
การบริหารจัดการต้นทุน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ที่เป็นไปสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจ ตลอดจนกำลังซื้อของประชาชนในวงกว้าง ยังนับว่าเป็นหลักสำคัญ ในการดำเนินธุรกิจอสังหาฯ ตลอดทั้งปี 2564 ขณะปัจจัย วัคซีนป้องโควิด-19 เป็นความหวังสูงสุดของผู้ประกอบการ ว่าจะทำให้เศรษฐกิจ - การท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัว ส่งผลกำลังต่างชาติกลับมา ตลอดจนความมั่นใจของคนไทย ช่วยหนุนความต้องการเพิ่มในกลุ่มที่อยู่อาศัยให้กลับมาในทุกระดับราคานั่นเอง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง