อัพเดท "พรก.กู้เงิน" 7แสนล้าน "เยียวยา-ฟื้นฟู-คุมระบาด" โควิดระลอกใหม่

18 พ.ค. 2564 | 19:00 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ค. 2564 | 12:56 น.

อัพเดท ข้อมูล หลังครม.อนุมัติ "พรก.กู้เงิน" เพิ่ม 7 แสนล้าน ฝ่าวิกฤติโควิดระลอกใหม่ พบเบื้องต้นใช้ใน 3 วัตถุประสงค์หลัก เยียวยา-ฟื้นฟูและคุมระบาด

หลังจาก ฐานเศรษฐกิจ รายงานข่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลัง ออก พรก.กู้เงิน หรือ พระราชกำหนดเพื่อฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด -19 ระลอกใหม่ เพิ่มในวงเงิน 7 แสนล้านบาท

ฐานเศรษฐกิจ ได้ตรวจสอบและรับการเปิดเผยมติครม.สำหรับการกู้เงินตาม พรก. 7 แสนล้านบาท ดังกล่าว พบว่ารัฐบาลจะนำไปใช้ ใน 3 วัตถุประสงค์หลัก ได้แก่

1. วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท 

  • แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดระลอกใหมของ โควิด 19 
  • หน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานของรัฐที่ครม.มอบหมาย

 

2. วงเงิน 4 แสนล้านบาท 

  • แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชย ให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ 
  • หน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานของรัฐที่ครม.มอบหมาย

 

3. วงเงิน 2.7 แสนล้านบาท 

  • แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ 
  • หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานของรัฐที่ครม.มอบหมาย

อัพเดท \"พรก.กู้เงิน\" 7แสนล้าน \"เยียวยา-ฟื้นฟู-คุมระบาด\" โควิดระลอกใหม่

สำหรับที่มาของพรก.กู้เงินเพิ่มอีก 7 แสนล้าน ดังกล่าว มีรายงานจากที่ประชุมครม. เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ว่าระนี้ กระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงในที่ประชุม ครม. ว่าปัจจุบันวงเงินกู้ ตาม พรก. เงินกู้เดิม 1 ล้านล้านบาท เหลืออยู่ 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลมีภาระต้องใช้ในการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 จำนวน  1.5 แสนล้านบาท 

และที่เหลือ 3 หมื่นล้านบาทเป็นของกระทรวงสาธารณสุข  ซึ่งวงเงินไม่เพียงพอในการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ จำเป็นจะต้องออก พรก. เงินกู้เพิ่มเติม 7 แสนล้านบาท