จากกรณที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลัง ออก พรก.กู้เงิน 7 แสนล้านบาท หรือ พระราชกำหนดเพื่อฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด -19 ระลอกใหม่ เพิ่มในวงเงิน 7 แสนล้านบาท
ฐานเศรษฐกิจ ได้ตรวจสอบ "เอกสารลับ" ว่าวาระดังกล่าว เสนอโดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกระทรวงการคลัง เรื่อง ร่างพระราชกําหนดให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. ....
โดยกระทรวงการคลัง ให้เหตุผลความจําเป็นที่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรี ว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 อนุมัติร่างพระราชกําหนดให้อํานาจ กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจาก สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. ....
และต่อมาพระราชกําหนดให้ อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจาก การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ได้มีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563 กําหนดให้กระทรวงการคลังโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอํานาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศ วงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยจะต้องลงนามในสัญญากู้เงินหรือออกตราสารหนี้ ไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2564
ทั้งนี้ ณ วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการที่เสนอ ขอใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินฯ แล้ว จํานวน 2,487 โครงการ กรอบวงเงินกู้ 833,475 ล้านบาท เพื่อดําเนินมาตรการทางการคลังอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดแต่ละระลอกในช่วงปี 2563 – 2564 โดยเป็นการช่วยเหลือด้านการแพทย์ และสาธารณสุข การช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาด และการฟื้นฟู เศรษฐกิจและสังคม
โดยปัจจุบันได้มีการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบกลุ่มต่างๆ
และการฟื้นฟู เศรษฐกิจและสังคม โดยมีผู้รับผลประโยชน์ผ่านการดําเนินโครงการ
โดยมีกรอบวงเงินกู้คงเหลือ จํานวน 166,525 ล้านบาท
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้มติเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและ ผู้ประกอบการในระลอกเดือนเมษายน 2564 ซึ่งมีความจําเป็นต้องนําเงิน ส่วนที่เหลือไปใช้ตามวัตถุประสงค์เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบอีกประมาณ 150,000 ล้านบาท จึงทําให้มีวงเงินคงเหลือจํานวน 16,525 ล้านบาท และคาดว่าจะมีการคืนกรอบวงเงินกู้เหลือจ่ายบางส่วน
โดยคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้จะพิจารณาให้กับ หน่วยงานอื่นต่อไป ซึ่งจากการดําเนินมาตรการทางการคลังข้างต้นภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน ส่งผลให้ เศรษฐกิจไทยปี 2563 หดตัว 6.1% ซึ่งต่ำกว่าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) คาดการณ์ว่าจะหดตัวที่ประมาณ 8%
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 ในหลายประเทศทั่วโลกยังมีความยืดเยื้อ อีกทั้งการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2564 มีลักษณะการระบาดเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) หลายจุด
ทั้งในแหล่งที่พักอาศัย สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ สาธารณะ และในชุมชนอย่างต่อเนื่อง และมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่กระจายเป็นวงกว้างและมีความรุนแรง มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีจํานวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดย ณ วันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ประเทศไทยมีจํานวนผู้ติดเชื้อสะสมทั้งสิ้น 110,082 ราย รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจํานวน 43,268 ราย และเสียชีวิตจํานวน 614 ราย
อย่างไรก็ดี แม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลพยายามจัดหาและกระจายวัคซีนให้ครอบคลุม ประชากรมากที่สุดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ยังมีความเสี่ยงของการกลายพันธุ์ของไวรัส จึงไม่สามารถใช้เป็น หลักประกันว่าจะสามารถควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจํากัด และยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการจัดเก็บ รายได้ของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของการกระจายวัคซีนของหลายประเทศ เป็นอีกปัจจัยสําคัญที่ส่งผลต่อรายได้หลักของประเทศซึ่งมาจากภาคการท่องเที่ยวและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้คาดการณ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ว่า จํานวน นักท่องเที่ยวต่างชาติ ปี 2564 จะอยู่ที่ 3.2 ล้านคน ลดลงจากที่ประมาณการไว้เดิมที่ 5 ล้านคน หรือลดลง ประมาณ 53% จากปี 2563 และคาดว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลงประมาณ 440,000 ล้านบาท จากปี 2563
นอกจากนี้ สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้คาดการณ์ผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยว่า จะทําให้เศรษฐกิจไทยปี 2564 ขยายตัว 2.3% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.5% ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการของสํานักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัว 1.5% – 2.5% เนื่องจากการระบาดระลอกใหม่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย
การระบาดตั้งแต่ต้นปี 2563 ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อการฟื้นตัว ของการดําเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จํานวน 2,387,825 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการเอกสารงบประมาณ 343,575 ล้านบาท คิดเป็น 12.5% และต่ำกว่าปี 2562 จํานวน 178,691 ล้านบาท คิดเป็น 6.5%
สําหรับ สถานการณ์การจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาการหดตัว ของเศรษฐกิจในปี 2563 และภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดเก็บ รายได้ของรัฐบาลในอนาคต
รัฐบาลมีความจําเป็นเร่งด่วนที่จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหา จํากัดการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจํากัด และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่แต่เนื่องจากแหล่งเงินงบประมาณที่สามารถนํามาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดมีข้อจํากัด อาทิ การจัดทํางบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีกระบวนการและใช้เวลา การดําเนินงาน ซึ่งอาจไม่ทันต่อสถานการณ์การระบาด
ประกอบกับวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล งบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ใกล้เต็มกรอบวงเงินแล้ว
ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่และเพื่อให้รัฐบาลสามารถบริหารสภาพคล่องทางการคลังในกรณีที่การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลได้รับ ผลกระทบจากการระบาด รัฐบาลจําเป็นต้องมีมาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคมที่ได้รับความเสียหาย และเตรียมการรองรับความเสียหายใหม่ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ โดยการเตรียม ความพร้อมด้านการเงินล่วงหน้า เพื่อให้ทันต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบ ต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาวและยากต่อการแก้ไข
นอกจากนั้น ภายหลังการระบาดภาครัฐจําเป็นต้องมีการลงทุน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยคาดว่าเมื่อสถานการณ์การระบาดสิ้นสุดลง และสถานการณ์ต่างๆ กลับเข้าสู่ ภาวะปกติ ธุรกิจเอกชน ภาคการผลิต และภาคการบริการจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการกลับมาดําเนินการ ได้ตามปกติ
ดังนั้น ในช่วงรอยต่อดังกล่าวที่การลงทุนและการดําเนินธุรกิจของภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัว เต็มศักยภาพ ภาครัฐจําเป็นต้องมีการลงทุนเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเห็นควรกําหนดกรอบวงเงินเพื่อรองรับสถานการณ์ไว้ไม่เกิน 700,000 ล้านบาท สําหรับใช้ในการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค และวัคซีนที่ยังมีความจําเป็นในช่วง ที่ภาครัฐอยู่ระหว่างการกระจายวัคซีนให้กับประชากรตามแผน และการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและ ผู้ประกอบการเพื่อให้สามารถดําเนินธุรกิจ รักษาการจ้างงาน และการบริโภคภายในประเทศได้อย่างต่อเนื่องในระยะ 1 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ ยังสามารถใช้สําหรับการบริหารความเสี่ยงของผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ ที่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้และสภาพคล่องของรัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง คาดการณ์ว่ากรอบวงเงินที่เสนอจะช่วยทําให้เศรษฐกิจปี 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากที่ สศค. ประมาณไว้อีก ประมาณ 1.5% โดยมีกรอบการใช้จ่ายเงิน ดังนี้
1. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของ โควิด 19 วงเงิน 30,000 ล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน และการวิจัยพัฒนาวัคซีนภายในประเทศ รวมทั้งการปรับปรุงสถานพยาบาลสําหรับ การบําบัดรักษาผู้ติดเชื้อโควิด19
2.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชยให้แก่ ประชาชนและผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่วงเงิน 400,000 ล้านบาท
เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อมให้สามารถดําเนินธุรกิจต่อเนื่องได้
3. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับ ผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่วงเงิน 270,000 ล้านบาท
เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสําหรับ แผนงาน/โครงการเพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการและกระตุ้นการลงทุน และการบริโภค ในระบบเศรษฐกิจของประเทศ
กระทรวงการคลังได้พิจารณาแหล่งเงินงบประมาณที่สามารถนํามาใช้เพื่อแก้ไขปัญหา เศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด19 พบว่ามีข้อจํากัด ดังนี้
1. งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้เสนอตั้งงบกลาง รายการที่ใช้รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19และสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ จํานวน 2รายการ ประกอบด้วย
2. การโอนงบประมาณรายจ่ายประจําปี พ.ศ. 2564 ของส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐ ในรายการที่ยังไม่มีความจําเป็นต้องใช้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 อาทิ รายการ งบประจําอื่นที่ไม่จําเป็น และรายการงบลงทุนที่ยังไม่มีการผูกพันสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง มาไว้เพิ่มเติมในรายการ งบกลาง รายการสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น
พบว่า ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สํานักงบประมาณ ได้จัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยรับงบประมาณ ตามแผนการใช้งบประมาณจริงในแต่ละไตรมาส จึงทําให้ หน่วยรับงบประมาณไม่มีเงินคงเหลือที่จะนํามาจัดทําพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2565
3.เงินทุนสํารองจ่ายตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ วงเงิน 50,000 ล้านบาท ได้มีการเบิกจ่ายไปแล้วจํานวน 25,000 ล้านบาท ทําให้มีวงเงิน คงเหลือ จํานวน 25,000 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอสําหรับรองรับการแก้ไขปัญหาจากการระบาด ประกอบกับจําเป็นต้องสํารองไว้เป็นวงเงินฉุกเฉินเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยพิบัติอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
4.การจัดทํางบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ไม่สามารถ ดําเนินการได้ เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีข้อจํากัด และได้รับผลกระทบ จากการระบาดของ
ประกอบกับปัจจุบันวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ เหลือกรอบวงเงินกู้ เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณจํากัด และอาจจําเป็นต้องใช้วงเงินกู้ดังกล่าวในกรณีการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลไม่เป็นไปตามประมาณการอันเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาด
ดังนั้น รัฐบาล จึงไม่สามารถดําเนินการจัดหางบประมาณผ่านแนวทางดังกล่าวได้
5. การใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจําปี พ.ศ. 2565 เพื่อรองรับ สถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ อาจไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปี พ.ศ. 2565 จะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2565 จึงไม่อาจใช้รองรับสถานการณ์ฉุกเฉินและจําเป็นในกรณีเร่งด่วนได้
ความเร่งด่วนของเรื่อง
กระทรวงการคลัง เห็นว่า การระบาดของโควิด19 ยังคงส่งผลกระทบ ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศยังคงมีความต้องการใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูและ ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ประกอบกับข้อจํากัดของการจัดทํางบประมาณรายจ่ายเพื่อการเยียวยา ฟื้นฟูและ ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ รวมถึงข้อจํากัดของพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ และที่แก้ไขเพิ่มเติม เกี่ยวกับกรอบวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือเมื่อรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ไม่เพียงพอ
รัฐบาลจึงมีความจําเป็นต้องมีกรอบวงเงินกู้เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหา เศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของและเพื่อบริหารสภาพคล่องทางการคลัง ซึ่งถือเป็นกรณีที่รัฐบาลต้องดําเนินการเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคง ในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะและเป็นสถานการณ์ในกรณีฉุกเฉินที่มีความจําเป็น รีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้
ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงเห็นควรเสนอร่างพระราชกําหนดให้อํานาจ กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019พ.ศ. .... โดยมีกรอบวงเงินกู้ไม่เกิน 700,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา เศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด19 และบริหารสภาพคล่องทางการคลัง
ข่าวเกี่ยวข้อง :