ในแวดวงธุรกิจไอที และอสังหาริมทรัพย์ ชื่อของ “กฤษดา สาธุกิจชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนทติเซนท์ จำกัด (Netizen) และ บริษัท แทรนดาร์ จำกัด (Trandar) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบฝ้าและผนังอะคูสติก รวมไปถึงที่ปรึกษาการวางระบบซอฟต์แวร์การบริหารจัดการทางธุรกิจ (อีอาร์พี) คนนี้ ถือเป็นที่รู้จักมักคุ้นกันดี เพราะเขาคือผู้นำนวัตกรรมดีๆ ราคากันเอง เข้าสู่ตลาด
ซีอีโอ คนนี้ เป็นเด็กเรียนดี ที่เกือบจะได้เป็นหมอ แต่เหตุเพราะไม่รื่นรมย์กับการเห็นเลือด จึงกลับใจหันไปหาสิ่งที่ถนัด คือ การคำนวณ จนจบปริญญาตรีวิศวะไฟฟ้า จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบเอ็มบีเอ จากธรรมศาสตร์ โดยก่อนนั้นเคยผ่านงานด้าน QA จากทรู คอร์ปอเรชั่น หรือในยุคนั้น ก็คือ เทเลคอมเอเซีย กับการตรวจมาตรฐานระบบสายไฟในโครงการ 2 ล้านเลขหมาย รวมทั้งยังได้ผ่านงานที่ บริษัท สยามไฟเบอร์กลาสฯ ของเอสซีจี
การได้เรียนเอ็มบีเอ ที่ธรรมศาสตร์ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาออกมาตั้งบริษัทของตัวเอง คือ บริษัท แทรนดาร์ฯ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้าง เนื่องจากมีความรู้และมีความเชี่ยวชาญด้านอะคูสติก ซึ่งเป็นงานที่เขาไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง และมีการเทกคอร์สที่อังกฤษ
“กฤษดา” อธิบายว่า ผนังอะคูสติกเป็นผนังที่มีระบบกันเสียง ซึ่งตอนนั้นยังมีผู้เล่นในตลาดน้อย และเป็นจังหวะดีที่โรงหนังกำลังขยายตัว เพราะฉะนั้น ทั้งเมเจอร์ อีจีวี เอสเอฟ รวมทั้งสายหนังในต่างจังหวัด ล้วนเป็นลูกค้าของเขาทั้งหมด ด้วยจุดแข็งในความเป็นโลคัล ที่มีมาตรฐานทัดเทียมกับต่างประเทศ และราคาไม่แพงเหมือนระบบต่างประเทศ ทำให้แทรนดาร์เกิดได้อย่างรวดเร็ว
การเติบโตของธุรกิจสำหรับซีอีโอคนนี้ ไม่ได้หยุดอยู่แค่ แทรนดาร์ แต่เขายังขยายไปในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เขาแยกแทรนดาร์อะคูสติก ทำงานด้านที่ปรึกษา รับงานทั้งในไทย ลาว กัมพูชา สิงคโปร์ เวียดนาม และมีบริษัท แทรนดาร์โฮมสโตร์ฯ เน้นขายของ, เนทติเซนท์ วางระบบอีอาร์พี, ซิโนเทค ทำพวกโลจิสติกส์, ออราเบิล เพิ่งเปิดมา 2-3 ปี เป็นสตาร์ตอัพทำแอพพลิเคชันที่ทำหน้าที่ collaborate ภายในองค์กร ทำระบบให้คนทำงานร่วมกัน และยังมี หจก.แทรนดาร์ นำเข้าวัตถุดิบใช้สำหรับทำเรือ ขึ้นรูปเซิร์ฟบอร์ด ขึ้นรูปรถยนต์ที่จะใช้ไฟเบอร์กลาสเสริมแรง
“กฤษดา” บอกว่า เขาแตกธุรกิจหลายอย่างก็จริง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ทำคือ เรื่องรับเหมา เพราะผู้รับเหมาคือลูกค้าของเขา เขาจะทำธุรกิจในสิ่งที่เขาถนัด และไม่คิดที่จะกินรวบ เพราะถือว่าการมีพันธมิตร จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กันและกัน การขยายธุรกิจของเขา คือ การขยายตลาด และขยายกลุ่มเป้าหมายให้ใหญ่ขึ้น เพราะฉะนั้นเขาจะคิดค้นและพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ออกสู่ตลาด ไปพร้อมๆ กับการขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้นและลึกขึ้นเรื่อยๆ
“ตอนนี้เราอยู่ในช่วงกำลังเติบโต เราคิดค้นเทคโนโลยีด้วยตัวเอง และตั้งเป้าจะเติบโตด้วยเทคโนโลยีของเราเอง เราเริ่มได้รับการยอมรับในแบรนด์แทรนดาร์ทั้งในไทยและในเซาธ์อีสต์เอเชีย และก็มีเป้าจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯอีก 5 ปีข้างหน้า ไม่รวมเนทติเซนท์ซึ่งทำธุรกิจที่ปรึกษาไอที”
ขณะนี้ “กฤษดา” จึงเริ่มเตรียมความพร้อมทั้งการขยายธุรกิจ การวางระบบบุคลากร ด้วยการสร้าง “วัฒนธรรมเจนเอ็น” ซึ่งเป็นวัฒนธรรมขององค์กร ที่ประกอบด้วยเรื่องของ ความกตัญญู ความมุมานะ อดทน ความมีคุณธรรม ความรับผิดชอบ และความมีสติปัญญา
แนวคิดการพัฒนาองค์กร หรือการทำงานของซีอีโอคนนี้ จะเป็นแนวคิดที่เป็นระบบมีขั้นมีตอน ซึ่งตัวเขาเองยอมรับว่า เขาทำทุกอย่างเป็นสเต็ป ต้องดูความพร้อมแต่ละจุด ว่ามีมากน้อยแค่ไหน และต้องไม่เสี่ยงจนเกินไป อย่างเรื่องการขยายตลาด เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่คิดค้นขึ้น ได้รับการยอมรับทั้งตลาดไทยและต่างประเทศ ทำให้เขาเชื่อมั่นว่า นี่คือความพร้อมที่ทำให้เขาสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง
ในขณะเดียวกัน การทำธุรกิจ ก็ไม่สามารถหยุดนิ่งกับที่ได้ แม้จะเป็นเจ้าตลาด ก็ต้องมองหาสิ่งใหม่ๆ ตลาดใหม่ๆ ความเชื่อของการทำธุรกิจคือ ต้องไม่อยู่บนเค้กก้อนเดิม ต้องมองหาโอกาสใหม่ๆ เสมอ โดยไม่ใช่ปรับเปลี่ยนในทันที แต่ต้องค่อยๆทรานส์ฟอร์มตัวเอง เพราะทุกอินดัสตรีย่อมมีขึ้นๆ ลงๆ ในวันที่เซ็กเมนต์ตรงนั้นลง ก็มีเซ็กเมนต์อื่นรองรับ มันก็ทำให้เราอยู่ได้อย่างไม่ลำบาก
ซีอีโอคนนี้ ทิ้งท้ายว่า ธุรกิจบางอย่างไม่สามารถสเกลหรือขยายได้เร็ว หากไปตามคนอื่นเขา ขยายไปเร็วๆ ก็อาจตายได้ สิ่งที่ผู้บริหารต้องมองให้เป็น และตีโจทย์ให้ออกคือ เมื่อเห็นโอกาสต้องไม่ทิ้ง ขณะเดียวกันก็ต้องเช็กสุขภาพขององค์กรอยู่เสมอ ดูว่าธุรกิจของเราเป็นอย่างไร เพราะถ้าพลาด ต้องอย่าลืมว่า คุณไม่ได้ตายคนเดียว แต่จะตายทั้งโขลง ไม่ใช่แค่พนักงาน แต่หมายถึงครอบครัวของเขาอีกหลายคน การทำธุรกิจต้องระมัดระวัง เพื่อให้ทุกคนอยู่ได้ และอยู่รอด
หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,528 วันที่ 5 - 7 ธันวาคม พ.ศ. 2562