นายประสิทธิ์ โอสถานนท์ ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าและความสำเร็จของโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฐานราก เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด 19 ที่ทำคนตกงานต้องกลับบ้านไร้งานทำ โดยโครงการนี้เกิดจากคณะกรรมการมูลนิธิปิดทองหลังพระ ได้ร่วมหารือและวิเคราะห์ผลกระทบจากสถานการณ์ จึงเห็นว่าต้องเข้ามาช่วยเหลือคนกลุ่มนี้โดยเร่งด่วน เพราะบุคคลเหล่านั้นล้วนแต่เป็นกำลังสำคัญในการหารายได้เลี้ยงดูครอบครัว จึงได้เกิดโครงการและเริ่มในพื้นที่ต้นแบบโครงการปิดทองฯ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัดคือ ขอนแก่น อุดรธานี และกาฬสินธุ์ โดยร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และภาคเอกชน เมื่อโครงการสำเร็จ จะส่งต่อรัฐบาลขับเคลื่อนต่อไป
โครงการได้กำหนดให้มีการพัฒนาแหล่งน้ำ และสร้างอาชีพในชุมชน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ประชาชนและเกษตรกรจะสามารถสร้างงานสร้างอาชีพ
โครงการความช่วยเหลือมีด้วยกัน 107 โครงการ ใน 43 อำเภอ 3 จังหวัด แบ่งเป็นการจ้างงานในจังหวัดอุดรธานี 83 ราย ขอนแก่น 145 ราย และกาฬสินธุ์ 130 ราย ทั้งหมดจะเป็นพี่เลี้ยงให้กับประชาชนที่มาร่วมกันพัฒนาแหล่งน้ำที่สถาบันปิดทองฯสนับสนุนปัจจัยการซ่อมเสริมสร้างแหล่งน้ำ โดยมีภาคประชาชนในพื้นที่ร่วมลงแรง
ใน 107 โครงการจะมีครัวเรือนรับประโยชน์จากแหล่งน้ำ 5,320 ครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์ 30,990 ไร่ มีปริมาณน้ำเพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้น 23.7 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) งบประมาณลงทุน 48.8 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรในฤดูการผลิตและการทำพืชหลังนาได้กว่า 217 ล้านบาท เฉลี่ยรายได้เพิ่ม 7,000 บาทต่อไร่ หรือ 3,400 บาทต่อเดือน คิดเป็นรายได้ต่อปีเทียบกับงบลงทุนเท่ากับ 4.45 เท่า
เป็นการทำงานที่เรียกว่า 4 ประสาน 3 ประโยชน์ คือประชาชน ราชการ เอกชนและมูลนิธิปิดทองฯ ร่วมกันสร้าง 3 ประโยชน์ คือ บรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำ สร้างอาชีพ และสร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำปลายน้ำ โดยประชาชนมีส่วนร่วม เช่น โครงการฝายทดน้ำห้วยปอ ม. 12 บ้านบัวสามัคคี ต.แซงบาดาล อ.สมเด็จจ.กาฬสินธุ์ ที่ฝายท้องถิ่นดูแล แต่ไม่มีงบบำรุง ทำให้ไม่สามารถเก็บน้ำใช้ในหน้าแล้งได้ ทั้งที่มีน้ำจำนวนมากจากเทือกเขาภูพานลงมา หลังจากโครงการฝายทดน้ำแล้วเสร็จ จะสามารถทดน้ำในฤดูฝนเพิ่มขึ้น 13.8 ล้านลบ.ม. คาดว่าประชาชนในพื้นที่ จะมีรายได้ประมาณ 86 ล้านบาท จากพื้นที่รับประโยชน์ 9,820 ไร่
นางธนิกา โคตรเสนา ผู้ใหญ่บ้านบัวสามัคคี กล่าวว่า โควิด 19 ที่ระบาด ชาวบ้านวิตกว่า ลูกหลานกลับมา จะตกงานไม่มีเงิน และไม่รู้จะทำอาชีพอะไร เมื่อทราบว่าจะมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ซี่งจะจ้างลูกหลานคนในพื้นที่เป็นพี่เลี้ยงทำงานด้วยก็ดีใจ แต่ยังไม่เชื่อว่าจะสำเร็จ กระทั่งวันนี้ ทุกคนดีใจมากที่จะมีแหล่งน้ำมาช่วยทำการเกษตร เนื่องจากฝายทดน้ำห้วยปอสร้างมา 30 ปี หลังจากที่กรมชลประทานถ่ายโอนให้ตามกฎหมาย ทางท้องถิ่นก็มีการซ่อมบำรุงเป็นระยะ แต่เป็นการบำรุงแบบไม่เต็มรูปแบบทำให้ฝายขาดความแข็งแรง และไม่สามารถทดน้ำได้เกษตรกรเดือดร้อนมาก หน้าแล้งไม่มีน้ำ
ฝายที่ชาวบ้านช่วยกันทำครั้งนี้ มาจากการลงแรงของชาวบ้านที่ตั้งใจทำเพื่อความมั่นคงของทุกครัวเรือนในพื้นที่ที่จะมีน้ำใช้ จากนี้ไป จะต้องมีการวางแผนบริหารจัดการการน้ำร่วมกันในฤดูแล้ง เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยในฤดูแล้ง ที่จะมีภาคเอกชนมาร่วมเชื่อมโยงตลาด เพราะผลสำเร็จจากฝายทำให้ทุกคนทราบแล้วว่า สามัคคีร่วมกัน ทำให้ชุมชนก้าวหน้า และงานสำเร็จ