SCG ยกระดับการคัดแยก - จัดการขยะ สู่ "วาระแห่งชาติ"

22 พ.ย. 2563 | 07:53 น.

เอสซีจี ยกระดับการคัดแยก - จัดการขยะ เป็นวาระแห่งชาติ ผนึกพันธมิตร ใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน สนับสนุนให้มีการคัดแยกที่เหมาะสมและนำเอาขยะกลับไปใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์ใหม่ พร้อม "ยื่นหนังสือปกขาว" รัฐบาล หวังให้เกิดการปฏิบัติในทุกภาคส่วน

ข้อมูลจาก World Bank ระบุว่า โดยเฉลี่ยมนุษย์สร้างขยะมากกว่า 2,000 ล้านตันต่อปี แต่มีเพียง 0.5 ล้านตัน เท่านั้นที่ถูกนำมาใช้ใหม่ และคาดการณ์ว่าภายในปี 2050 จะมีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอีก 70% หรือ 3,400 ล้านตัน

เวที SD Symposium 2020 “Circular Economy: Actions for Sustainable Future” โดยเอสซีจี และพันธมิตร ทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ ชุมชน และเยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้ร่วมกันระดมความคิดหาทางออกเพื่อยกระดับการคัดแยกและจัดการขยะให้เป็นวาระแห่งชาติ สนับสนุนให้มีการคัดแยกที่เหมาะสมและนำเอาขยะกลับไปใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์ใหม่ได้ ด้วยการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหา เพื่อใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด

“ปัจจุบัน ประเด็นสิ่งแวดล้อมและการจัดการขยะ ได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่ การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางของผู้บริโภคเริ่มขยายวงกว้าง และเกิดการแบ่งปันข้อมูล (แชร์) กันมากขึ้น เป็นโอกาสและจังหวะที่ดีที่จะเริ่มผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง” เปรม พฤกษ์ทยานนท์ ผู้ก่อตั้งเพจ “ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป” เพื่อสื่อสารให้ผู้บริโภคตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและมุ่งพัฒนาเนื้อหาการคัดแยกขยะให้น่าสนใจ กล่าว

SCG ยกระดับการคัดแยก - จัดการขยะ สู่ \"วาระแห่งชาติ\"

ภูมิ ตันศิริมาศ เยาวชนต้นแบบ นักจัดการขยะรุ่นจิ๋ว เล่าว่า เป็นเรื่องยากที่จะไม่สร้างขยะในชีวิตประจำวัน ตนเองสนใจและใส่ใจกับสิ่งรอบตัว จึงได้เริ่มลดการสร้างขยะในชีวิตประจำวัน โดยใช้ขวดน้ำแทนแก้วแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง นำถุงผ้าไปใส่สินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาดสด รวมถึงนำกล่องใส่ข้าวไปซื้ออาหารสำเร็จรูป จนขยายไปสู่การพัฒนาโครงการมิชชั่นทูกรีน

“การแยกขยะไม่ซับซ้อนอย่างที่คิด ขยะทุกชิ้นมีค่า หากมีการแยกและทิ้งถูกวิธี เมื่อไม่มีขยะ สิ่งแวดล้อมก็จะกลับมาสมบูรณ์”

SCG ยกระดับการคัดแยก - จัดการขยะ สู่ \"วาระแห่งชาติ\"

SCG ยกระดับการคัดแยก - จัดการขยะ สู่ \"วาระแห่งชาติ\"

ด้าน รัมภ์รดา นินนาท รองผู้อำนวยการ เครือข่ายความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) ซึ่งขับเคลื่อนโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” โดยร่วมกับผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าตั้งจุดคัดแยกขยะ และร่วมกับบริษัทที่รับขยะนำเข้าสู่ระบบรีไซเคิล รวม 39 ภาคี บริหารจัดการขยะตลอดเส้นทางสุขุมวิท เพื่อลดขยะสู่บ่อฝังกลบ เพิ่มการรีไซเคิลและลดก๊าซเรือนกระจก โดยมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มเป็นตัวช่วยเก็บข้อมูลปริมาณขยะ ติดตาม และประเมินผล พร้อมเชื่อมต่อกับ Solution Providers ทั้งแอปพลิเคชัน PAPER X ของ SCGP ในการเก็บขยะประเภทกระดาษ และ AIS e-waste ในการเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์ นำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล

 

“ในช่วง 2 เดือนที่ดำเนินโครงการ ถือว่าได้ผลดีเกินคาด ไม่ใช่เพราะได้ปริมาณขยะถึง 2.2 ตัน แต่กว่า 90% ของขยะที่ผู้บริโภคนำมาทิ้งเป็นขยะที่สะอาด ทำให้เห็นถึงความตั้งใจในการแยกขยะของผู้บริโภค”

SCG ยกระดับการคัดแยก - จัดการขยะ สู่ \"วาระแห่งชาติ\"

 นนทิกานต์ อัศรัสกร นักธุรกิจรุ่นใหม่ผู้ก่อตั้งแบรนด์ “ลฤก” พวงหรีดเสื่อ กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่เริ่มตระหนักรู้ แต่ยังไม่มีจุดร่วมหรือช่องทางให้เข้ามามีส่วนร่วม จึงต่อยอดจากธุรกิจเดิมของครอบครัว นำเสื่อพลาสติก ที่ปัจจุบันผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล 100% มาพัฒนาต่อยอด ออกแบบเป็นพวงหรีดเสื่อ เพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้สูงสุด สามารถคลี่ออกมาเป็นเสื่อและอาสนะ ให้วัดใช้งานต่อไปได้ ไม่ปล่อยให้พวงหรีดกลายเป็นขยะในเวลาอันสั้น ซึ่งเป็นการผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนตั้งแต่ต้นทางการผลิตจนถึงปลายทางการใช้งาน

“ในยุคที่คนมองแต่ข้อเสียของพลาสติกว่าย่อยสลายยาก แต่ถ้าเราลองมองอีกด้านว่าการที่พลาสติกมีอายุการใช้งานได้ยาวนานเป็นข้อดี เราก็สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก ด้วยการนำพลาสติกมารีไซเคิลเป็นวัตถุดิบสำหรับทอเสื่อ ซึ่งปัจจุบันทำได้ 100% แล้ว ก่อนต่อยอดด้วยการนำมาทำพวงหรีดที่สามารถนำไปใช้งานต่อได้ ไม่เหลือทิ้งเป็นขยะ

SCG ยกระดับการคัดแยก - จัดการขยะ สู่ \"วาระแห่งชาติ\"

Jacob Duer ประธานและซีอีโอ  Alliance to End Plastic Waste (AEPW) กล่าวว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายเรื่องการจัดการพลาสติกใช้แล้ว ผลการวิจัยพบว่า 5 ปีที่ผ่านมา มีขยะถึง 11 ล้านตัน ถูกปล่อยลงในมหาสมุทร หากไม่มีการจัดการที่ดี ขยะจะเพิ่มขึ้นถึง 29 ล้านตันในปี 2040 ปัญหานี้มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ตื่นตัว และเป็นผู้นำสร้างเครือข่ายธุรกิจ ปฏิรูปอุตสาหกรรมพลาสติกด้วยการรวมกลุ่มกัน ช่วงเริ่มต้นในปี 2019 มีสมาชิก 20 ราย และเพิ่มเป็น 50 รายในปี 2020 โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณในการจัดการขยะในทะเลให้เป็นทรัพยากรใหม่ด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ประมาณ 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีความร่วมมือที่กำลังช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องนี้ถึง 25 โครงการ ใน 10 เมือง

SCG ยกระดับการคัดแยก - จัดการขยะ สู่ \"วาระแห่งชาติ\"

ประภากร วทานยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา การก่อสร้างเติบโตขึ้น นำมาซึ่งเศษวัสดุที่เหลือจากการก่อสร้างถึงร้อยละ 20-25 ที่ถูกทิ้ง วงการอุตสาหกรรมก่อสร้างจึงได้รวม 5 ธุรกิจที่เกี่ยวข้องตลอดกระบวนการก่อสร้าง ได้แก่ สถาปนิกและที่ปรึกษาโครงการ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง และผู้บริหารจัดการของเสีย ภายใต้ “เครือข่ายความร่วมมือองค์กรธุรกิจอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy in Construction Industry- CECI)” เพื่อแก้ไขและหาทางออกให้กับปัญหาวัสดุเหลือทิ้งจากการก่อสร้าง ด้วยการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้

ขยะจากการก่อสร้าง เกิดจากการออกแบบและการก่อสร้างที่ไม่สัมพันธ์กัน จึงต้องแก้ปัญหาตั้งแต่จุดเริ่มต้น คือ ออกแบบอย่างไรไม่ให้เหลือเศษวัสดุ ซึ่งเศษวัสดุเป็นเงินมหาศาลที่ส่งผลกระทบทั้งเจ้าของโครงการและผู้บริโภค จึงมีการใช้เทคโนโลยี BIM – Building Information Modeling ในการออกแบบ ที่ช่วยให้เห็นภาพงานก่อสร้าง และปริมาณวัสดุที่ต้องใช้ก่อนการลงมือก่อสร้าง ช่วงเริ่มต้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว มีเครือข่ายพันธมิตรไม่ถึง 10 องค์กร แต่เรามองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องขยายให้ครอบคลุมทั้งวงการก่อสร้าง จนปัจจุบันมีเครือข่ายประมาณ 30 องค์กร”

การระดมความคิดจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดกระบวนการจัดการขยะจากเวทีนี้ ตลอดระยะเวลากว่า 1 เดือนที่ผ่านมา ได้มีการสรุปข้อเสนอแนะ (White Paper) เพื่อยื่นเสนอต่อภาครัฐและหวังให้เกิดการปฏิบัติในทุกภาคส่วน ด้วยการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ยกระดับการคัดแยกและจัดการขยะให้เป็นวาระแห่งชาติ ปรับปรุงหรือเพิ่มเติมกฎหมายบังคับใช้เรื่องการจัดการขยะอย่างจริงจัง โดยเร่งผลักดันการประกาศแผนปฏิบัติการจัดการขยะ เพื่อกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน และเกิดการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ ภาครัฐต้องออกมาตรการสนับสนุนสินค้ารีไซเคิลอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวของภาครัฐ  การสร้างฉลากสินค้ารีไซเคิล การกำหนดสัดส่วนวัสดุรีไซเคิลในผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกให้มากขึ้น และผลักดันความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและผู้ประกอบการรีไซเคิล รวมทั้งผลักดันให้ภาครัฐยกระดับระบบจัดเก็บและจัดการขยะ นำระบบดิจิทัลมาใช้ เพื่อเชื่อมระหว่างแหล่งกำเนิดขยะกับร้านรับซื้อของเก่า และผลักดันให้ภาคเอกชนร่วมกันพัฒนาจุดรับคืนผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว และปลูกฝังจิตสำนึกให้แยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้เกิดการนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง

SCG ยกระดับการคัดแยก - จัดการขยะ สู่ \"วาระแห่งชาติ\"

หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนสามารถนำมาใช้กับการบริหารจัดการทรัพยากรได้รอบตัว โดยเฉพาะการเปลี่ยนขยะให้เป็นเงิน มีหลายชุมชนดำเนินการแล้ว เพื่อไม่ส่งต่อขยะให้คนรุ่นลูกหลาน ซึ่งปัจจุบันมีทั้งองค์กรภาครัฐ เอกชน และชุมชนเริ่มดำเนินการนำร่องบริหารจัดการขยะให้สำเร็จ อาทิ คุ้งบางกระเจ้า ตลาดสี่มุมเมือง จุฬาซีโร่เวสต์ และทีอาร์บีเอ็น” ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวสรุป

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ อดีตเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และประธานคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากโควิด -19 ทำให้ต้องเร่งการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ โดยมุ่งส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ 3 มิติ ตามนโยบาย BCG (Bio-Circular-Green Economy) ที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน โดยภาครัฐต้องปรับตัวและแสวงหาความร่วมมือจากภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโยบาย

SCG ยกระดับการคัดแยก - จัดการขยะ สู่ \"วาระแห่งชาติ\"

มีหลายปัจจัยที่จะช่วยให้เรื่องนี้สำเร็จ ทั้งเรื่องนโยบายของภาครัฐที่ได้เริ่มขึ้นแล้ว จึงต้องช่วยกันผลักดันต่อสู่การปฏิบัติ ด้วยการบูรณาการและเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม โดยต้องเปลี่ยนความคิดและวิธีการทำงาน รวมถึงการมีแหล่งเงินทุน เพื่อให้ชุมชนหรือสตาร์ทอัพ สามารถขับเคลื่อนให้ตอบโจทย์ BCG มากขึ้น และการสร้างการตระหนักรู้การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าสูงสุด ด้วยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ พร้อมกับการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

ทุกคนต่างมีส่วนร่วมสร้างให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ขณะเดียวกันทุกคนต่างก็มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาได้ด้วยเช่นกัน การยกระดับการคัดแยกและจัดการขยะให้เป็นวาระแห่งชาติจะเกิดขึ้นได้จริง ทุกภาคส่วนต้องประสานความร่วมมือ แล้ว “ขยะ” จะกลายเป็น “ทรัพยากร” ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้หมุนเวียนต่อไปได้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด