ย้อนเวลากลับไปในช่วงต้นปี 2563 ที่เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศไทย จนกระทั่งมาถึงการแพร่ระบาดรอบสอง ชื่อของ “น้องปิ่นโต” และ “น้องกระจก” หุ่นยนต์ผู้ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ กลายเป็นรู้จักของคนไทยอย่างแพร่หลาย แต่จะมีกี่คนที่รู้ว่า หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังน้องหุ่นยนต์ทั้ง 2 นอกจาก “กลุ่มนิสิตเก่า” และ “ทีมวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ก็คือ “ดร.มหิศร ว่องผาติ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร HG Robotics และประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท Obodroid ซึ่งไม่เป็นเพียงหนึ่งในทีมผู้พัฒนา แต่เขายังเป็นบุคคลแถวหน้าของธุรกิจหุ่นยนต์เมืองไทย
“ดร.มหิศร” เป็นคนที่คลั่งไคล้เรื่องของเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาตั้งแต่เด็ก เริ่มจากการ์ตูนหุ่นยนต์ การ์ตูนแปลงร่าง จนเริ่มทำสิ่งประดิษฐ์เล็กๆ และเริ่มชัดเจนมากขึ้นเมื่อเข้าเรียนวิศวฯ จุฬาฯ และได้เข้าชมรมหุ่นยนต์ เขาและเพื่อนๆ มีโอกาสประดิษฐ์หุ่นยนต์ประกวดจนได้แชมป์ จนได้ไปแข่งขันในต่างประเทศ และมีโอกาสได้ตั้งบริษัทด้านหุ่นยนต์ร่วมกับเพื่อนๆ เพราะในยุคนั้น คือประมาณปี 2554 เมืองไทยกับหุ่นยนต์ยังไม่เป็นที่รูัจักแพร่หลายนัก นอกจากหุ่นยนต์แขนกล ในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ
“เรื่องของหุ่นยนต์ มันน่าสนใจ และสามารถ integrated หลายๆ ศาสตร์เข้าด้วยกัน พอเรียนปริญญาเอกที่ญี่ปุ่น ก็ยิ่งเห็นว่าจริงๆ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ มันเป็นอนาคต ที่จะเข้ามาทดแทนและช่วยเหลือมนุษย์ พอเราเรียนจบ ภาพความต้องการต่างๆ มันเริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ ทั้งระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก มันเลยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า หุ่นยนต์สามารถเป็นได้ทั้งธุรกิจ อาชีพ และเป็นอะไรที่เราอยากทำ เป็นการ combine ที่ลงตัว”
ตอนนี้ “ดร.มหิศร” มีบริษัทที่นั่งบริหารเป็นหลัก คือ บริษัท เอชจี โรโบติกส์ จำกัด ที่มีบริษัทลูกคือ ไฮฟ์กราวนด์ และบริษัทที่ร่วมกับพาร์ทเนอร์คือ โอโบดรอยด์ โดยเอช จี โรโบติกส์ จำกัด ได้พัฒนาอุปกรณ์สำหรับการใช้งานทางทหาร งานเกษตรกรรม งานรักษาความปลอดภัย และการขนส่ง เช่น อากาศยานไร้คนขับแบบปีกกว่า 6 เมตร (UAV) ยานผิวนํ้าไร้คนขับ (ASV) ยานใต้นํ้าอัตโนมัติ (AUV) และโดรนทางอากาศสำหรับงานอุตสาหกรรมและการเกษตร ส่วนโอโบดรอยด์ พัฒนาหุ่นยนต์สำหรับบ้านและโครงการที่พักอาศัย
จากความชอบส่วนตัว จนกลายมาเป็นธุรกิจ ทำให้เขารู้ว่าต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม ศึกษาจุดอ่อนจุดแข็งของตัวเองและธุรกิจว่าอยู่ตรงไหน และใครสามารถช่วยเสริมให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้... การที่เรามาเป็นพันธมิตรกับ MQDC จนกลายเป็น โอโบดรอยด์ MQDC เป็นตลาดที่มาพร้อมกับวิชั่นของผู้บริหารและวิชั่นของเครือ งานที่ออกมาจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของลูกค้าของเราในอนาคต...ซึ่งนั่นแปลว่า การลงทุนของโอโบดรอยด์กับสิ่งที่เราพัฒนาขึ้น มีตลาดรองรับแน่นอนระดับหนึ่ง ในทางกลับกัน หากพูดถึงตลาดหุ่นยนต์บริการ ถ้าเราคิดพัฒนาขึ้นมาเองแล้วขาย มันยากมาก
“เรากำหนดไดเร็คชั่น โดยดึงความต้องการของเครือ ลูกค้าของเครือ และวิชั่นที่มี มาพัฒนาโปรดักส์ ซึ่งเรามั่นใจได้ว่ามีลูกค้ารออยู่ รวมถึงการซัพพอร์ตจากทีมงานทางด้านเซลและมาร์เก็ตติ้ง และส่วนอื่นๆ พร้อมกับการเรียนรู้ของเราที่พัฒนาเพิ่มเติม ในส่วนของบิซิเนสดีเวลลอปเม้นท์ และการตลาดทั้งหลาย...นี่คือสิ่ง ที่วิศวะคนหนึ่งมีโอกาสได้เรียนรู้”
หุ่นยนต์ที่ โอโบดรอยด์ทำ ไม่จำเป็นต้องมีแขนมีขา แต่ต้องเป็นหุ่นยนต์ที่ตอบโจทย์การใช้งานจริง การพัฒนาหุ่นยนต์แต่ละครั้ง ต้องมีการพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้นจะใช้งานเชิงฟังก์ชั่นนอล โดยต้องศึกษาว่าฟังก์ชั่นนั้นจะมาช่วยอะไรได้บ้าง เหมาะกับส่วนงานไหน พื้นที่การใช้งานเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้จะเป็นไกด์ไลน์ในการพัฒนาหุ่นยนต์
ณ วันนี้ ธุรกิจของโอโบดรอยด์ และ เอชจี โรบอติก กำลังเดินหน้าไปตามเป้าหมาย “ดร.มหิศร” บอกว่า ในเชิงเอ็นจิเนียร์ตอนนี้ทุกอย่างไปได้ดี แต่ในเชิงธุรกิจยังมีความท้าทายอยู่หลายอย่าง เช่น การตลาด และการยอมรับหุ่นยนต์ในประเทศไทย ยังต้องใช้เวลา และยังต้องพิสูจน์ให้คนเห็นว่า หุ่นยนต์ที่ถูกพัฒนาขึ้นใช้งานได้จริง ตอนนี้มีหุ่นยนต์ โดรน ที่บริษัทพัฒนาขึ้นถูกใช้งานอยู่ทั่วประเทศกว่า 100 ตัว หุ่นยนต์โอโบดรอยด์ ก็มีทั้ง “ไข่ต้ม” หุ่นยนต์เพื่อน /ผู้ช่วยส่วนตัว และ “เอสอาร์วัน” หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย ก็มีใช้งานแล้ว
ไม่เพียงแต่ตลาดในประเทศ สำหรับต่างประเทศหุ่นยนต์ของทั้ง 2 บริษัทนี้ ก็ออกไปทำตลาดแล้ว ทั้งที่ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และรวมไปถึงอังกฤษ ที่ติดต่อเข้ามา ซึ่งนั่น คือเป้าหมายสำคัญที่นักคิดนักพัฒนาคนนี้ตั้งเป้าว่า เขาต้องการสร้างหุ่นยนต์ของคนไทย ให้สามารถเปิดตลาดไปยังต่างประเทศ ทำให้ต่างประเทศยอมรับ
“ผมชอบทำงาน ชอบหุ่นยนต์ ผมได้มีโอกาสสร้างและพัฒนาบริษัทไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเป็นซัคเซสเคส ว่า ทีมของเรา ทีมคนไทย สามารถพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อใช้งานเองในประเทศได้ ขายไปทั่วโลกได้ ตรงนี้จะทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มันจะเปิดทางให้คนไทย และยังเป็นเคส หรือองค์กร
ที่เป็นต้นแบบในการกระตุ้นให้น้องๆ หรือคนรุ่นหลังๆ เปลี่ยนเพอร์เซฟชั่นจากผู้ใช้ มาเป็นผู้สร้างเทคโนโลยี ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีความสำคัญในเวทีโลก”
ประเทศไทย ยังไม่มีบริษัทแบบแอปเปิล กูเกิล หรือเฟสบุ๊ค หากเป็นไปได้ “โอโบดรอยด์” น่าจะเป็น องค์กรต้นแบบ หรือธุรกิจต้นแบบ ที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นให้เด็กไทยเกิดความสนใจ และเข้าสู่แวดวงนักพัฒนาหุ่นยนต์กันเยอะๆ จนทำให้ไทยกลายเป็นหนึ่งในแผนที่โลก ที่ต่างชาติต้องรู้จักว่า นี่คือประเทศผู้ผลิตและพัฒนาหุ่นยนต์คุณภาพอีกประเทศหนึ่งของโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Tellscore พลิกวิกฤติคว้าโอกาส สร้างตลาด Influencer Marketing
"ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์"นำศักยภาพไมโครซอฟท์ Empower สร้างอิมแพ็คประเทศไทย
"คุณโก้ - ชานนท์ เรืองกฤตยา" …“ความคล่องตัว” คีย์สำคัญ ผลักดัน "อนันดา" ฟื้นตัวและอยู่รอด
"อริยะ พนมยงค์" ทรานสฟอร์มองค์กร ต้องเริ่มที่ CEO
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 24 ฉบับที่ 3,644 วันที่ 14 - 16 มกราคม พ.ศ. 2564