นวัตกรรม เครื่องผลิตนํ้ายาฆ่าเชื้อโควิด-19 ประสิทธิภาพสูง

13 ก.พ. 2564 | 03:30 น.

ในขณะที่วัคซีนโควิด -19 กำลังจะได้ฉีดให้คนไทย แต่ในวัคซีนประจำตัวที่ทุกคนมีอยู่แล้ว ทั้งหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ การเช็กอิน-เช็กเอาต์ หมอชนะ ที่ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เน้นยํ้าอยู่เสมอก็มิควรขาด เช่นเดียวกัน นํ้ายาฆ่าเชื้อไวรัสโควิด- 19 ที่ยังมีความสำคัญไม่แพ้กัน ดังนั้น “เครื่องผลิตนํ้ายาฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19” นวัตกรรมของ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จึงยังเป็นสิ่งจำเป็น

นักวิจัย ม.อ. โชว์นวัตกรรม “เครื่องผลิตนํ้ายาฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19” ประสิทธิภาพสูง ใช้ทุกสภาพพื้นผิวและปลอดภัย พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ต่อยอดเชิงพาณิชย์สู่สังคม ร่วมขับเคลื่อนสุขอนามัยคนไทย 


จากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปีที่ผ่านมากระทั่งปัจจุบัน ส่งผลต่อความต้องการใช้แอลกอฮอล์ในการฆ่าเชื้อสูงขึ้นในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำโดย รศ.ดร.วรากร ลิ่มบุตร คณะวิทยาศาสตร์ และนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์กว่า 10 คน ร่วมกันวิจัยและพัฒนานวัตกรรม “เครื่องผลิตกรดไฮโปคลอรัสและไฮโปคลอไรด์” สำหรับผลิตนํ้ายาฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพสูงใช้ได้ทุกสภาพพื้นผิว มีความปลอดภัย โดยพร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้งานวิจัยต่อยอดในเชิงพาณิชย์สู่ชุมชนและสังคม  


รศ.ดร.วรากร ลิ่มบุตร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า การผลิต กรดไฮโปคลอรัสและไฮโปคลอไรด์ ประชาชนทั่วไปสามารถผลิตนํ้ายาฆ่าเชื้อจากเครื่องเองได้ โดยอาศัยนํ้าและเกลือ การพัฒนาเครื่องผลิตกรดไฮโปคลอรัสและไฮโปคลอไรด์ มีวัตถุประสงค์เพื่อทดแทนนํ้ายาฆ่าเชื้อ โดยเป็นการนำองค์ความรู้จากวิชาเคมี ไฟฟ้าในการผลิต โดยจากการจ่ายศักย์ไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้าให้แก่ขั้วไฟฟ้า แผ่นวัสดุนำไฟฟ้าขั้วแอโนด (ขั้วบวก) ที่จุ่มอยู่ในภาชนะบรรจุสารละลายเกลือแกง จะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันที่บริเวณผิวหน้าได้ผลิตภัณฑ์เป็นกรดกรดไฮโปคลอรัส ที่มีพีเอชอยู่ในช่วง 4.0 ถึง 6.5 ซึ่งมีลักษณะเป็นกรดอ่อน มีค่า Oxidation-Reduction potential สูง 

 

สำหรับแผ่นวัสดุนำไฟฟ้าขั้วแคโทด (ขั้วลบ) ที่จุ่มอยู่ในขวดบรรจุสารจะเกิดปฏิกิริยารีดักชันที่บริเวณผิวหน้าได้ผลิตภัณฑ์เป็นโซเดียมไฮดรอกไซด์ ซึ่งมีพีเอชอยู่ในช่วง 8 ถึง 14  
 

ม.อ.ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้การวิจัยให้แก่หน่วยงานราชการและโรงเรียนต่างๆ ในภาคใต้ 9 จังหวัด ได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้อุปกรณ์ผลิตกรดไฮโปคลอรัสสำหรับฆ่าเชื้อโรคด้วยตัวเอง ให้แก่กองร้อยกองบังคับการกองพลพัฒนาที่ 4 ค่ายรัตนพล จ.สงขลา รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการ และถ่ายทอดองค์ความรู้เครื่องผลิตกรดไฮโปคลอรัสสำหรับฆ่าเชื้อโรคแบบใช้ในครัวเรือน ณ โรงเรียนส่งเสริมศาสนาวิทยามูลนิธิ (เกาะหมี) จ.สงขลา   

นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ ใช้เวลาพัฒนา 1 ปี จนได้ผลงานที่สามารถทำคุณประโยชน์ได้ทุกมิติ ทั้งยังถ่ายทอดองค์ความรู้ต่อยอดในเชิงพาณิชย์สู่ชุมชนและสังคม ซึ่งในอนาคตจะร่วมกับผู้ประกอบการในการต่อยอดและพัฒนานํ้ายาฆ่าเชื้อไฮโปคลอรัสและไฮโปคลอไรด์ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น


ปัจจุบันได้ร่วมกับผู้ประกอบการพัฒนาเครื่องผลิตกรดไฮโปคลอรัสและไฮโปคลอไรด์สำหรับฆ่าเชื้อที่มีขนาดใหญ่แล้ว 

หน้า 18 หนังสือฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,652 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564