ส่วน จอห์น ล็อค กล่าวถึงความสำคัญของสิทธิของมนุษย์ที่ติดตัวมาแต่กำเนิด อันส่งผลให้ทุกคนเท่าเทียมกันและไม่สามารถพรากสิทธิดังกล่าวออกไปได้ ในขณะที่ ฌอง ฌากส์ รุสโซ เน้นที่มนุษย์ทุกคนมีเสรีภาพ ซึ่งนำไปสู่ความเท่าเทียมกันทั้งในความเป็นมนุษย์ และการที่จะต้องได้รับความคุ้มครองตามกฏหมายอย่างเป็นธรรม
ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ ([email protected]) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เปิดเผยว่า ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในเกือบทุกสังคมก็คือ ทรัพยากรที่มีจำกัด ทำให้เกิดการใช้อำนาจในการจัดสรรการเข้าถึง โดยอาศัยปัจจัยทางภูมิศาสตร์ เพศสภาพ อายุ เชื้อชาติ การแบ่งชนชั้น ความเชื่อทางศาสนา ความสัมพันธ์ รวมทั้งการรักษาเกียรติภูมิ การใช้อำนาจดังกล่าว นำไปสู่การเลือกปฏิบัติ ทั้งในเรื่องการศึกษา โอกาสการจ้างงาน การเลื่อนตำแหน่ง ช่องว่างรายได้ การเข้าถึงบริการสาธารณะ รวมทั้งการเลือกบังคับใช้กฏหมายเฉพาะกลุ่ม เนื่องจากรัฐไม่สามารถสร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้นได้จริง
หลายครั้งประชนชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการความเสมอภาคด้วยตนเอง เช่น ในยุคหลังสงครามกลางเมืองของสหรัฐอเมริกา ตะวันตกยังเป็นบ้านป่า เมืองเถื่อน แม้ประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น จะเป็นผู้ประกาศเลิกทาสและให้เสรีภาพแก่คนอเมริกาทั้งมวล แต่ในทางปฏิบัติ เป็นที่ยอมรับกันว่าแซมมวล โคลท์ ผู้ประดิษฐ์ปืนลูกโม่โคลท์ .45 ในราคาที่ใครๆ ก็เป็นเจ้าของได้ต่างหาก ที่เป็นผู้ช่วยให้นิ้วบนไกปืนสามารถสร้างความเท่าเทียมในสังคมให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง
ในยุคดิจิทัลการแสวงหาความเสมอภาคบนปลายนิ้ว เปลี่ยนจากการเหนี่ยวไกปืน มาเป็นการสัมผัสแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ หรือ สมาร์ทโฟน เพื่อนำพามนุษย์หลีกหนีจากสังคมบนโลกที่เหลื่อมล้ำไปใช้ชีวิตประชากรในโลกเสมือน ที่ความเท่าเทียมมาจากการที่เทคโนโลยีดิจิทัล เป็นสะพานข้ามปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ ตัวตน ความเชื่อ ชนชั้น ชื่อเสียง และความสัมพันธ์ อินเทอร์เน็ตได้สร้างโอกาสอันเท่าเทียมและเสรีภาพ ที่ทุกคนเข้าถึงได้ บนหลักการพื้นฐานของความเสมอภาคทางเน็ต (Net Neutrality) ซึ่งกำหนดให้เจ้าของแพลตฟอร์มดิจิทัล (ไอเอสพี) ต้องให้บริการส่งข้อมูลไปตาม ‘เส้นทาง’ อย่างเท่าเทียม ด้วยความเร็วเท่ากันและ ห้ามจัดการกับเนื้อหาข้อมูลที่ไหลเวียนอยู่บนอินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการไม่สามารถเลือกว่าจะให้บริการเป็นพิเศษแก่ใครได้
ดังนั้น ข้อมูลของ กูเกิล อเมซอน ยูทูป และ เน็ตฟิก ไม่สามารถแซงหน้าข้อมูลจากบริษัทคู่แข่งที่มีขนาดเล็กกว่าได้ หลักความเป็นกลางของเครือข่ายนอกจากจะช่วยปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก และช่วยทุกคนให้เข้าถึงเนื้อหาอย่างเท่าเทียม ยังช่วยเปิดพื้นที่ให้นักพัฒนานวัตกรรมสามารถสร้างสรรค์บริการใหม่ ๆ
การแสดงความคิดเห็นของผู้ใช้งานบนโลกเสมือน ยังสามารถเลือกใช้สัญลักษณ์การสื่อสารทางอารมณ์ที่ก้าวข้ามการเลือกปฏิบัติ เช่น เว็บไซต์ อีโมจิพีเดีย เปิดตัว ชุดอีโมจิที่เน้นความเป็นกลางทางเพศสภาพ เพื่อให้ผู้ใช้ได้เลือกใช้สัญลักษณ์ที่สะท้อนความเป็นตัวเองได้มากที่สุด มีทั้งภาพผู้ชายจับมือกัน ผู้หญิงจับมือกัน แทนที่จะมีแค่คู่หญิงชายตามที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม รายงานสำรวจของ กูเกิลในโลกออนไลน์ พบว่า อัลกอริทึมการแนะนำวีดีโอ บทความหรือ บล็อกยังคงยึดถือรสนิยมและความสนใจของผู้ชายเป็นหลัก และในบางประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย พบว่ายังมีปัจจัยมากมายและอุปสรรคหลายอย่างที่ทำให้ผู้หญิงต้องเผชิญกับข้อจำกัดในการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างอิสระ ในบางครั้งถึงกับไม่สามารถสร้างคอนเทนต์ หรือแชร์ข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ อัลกอริทึมตรวจจับใบหน้าของกูเกิล ได้เคยแสดงหน้าคนผิวสีว่าเป็นลิงกอริลลา ซึ่งเป็นประเด็นที่อ่อนไหวมาก แม้จะมีผู้ร้องเรียนเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2015 แต่กว่าจะได้รับการแก้ไขก็ผ่านมาถึงปี 2018 สาเหตุสำคัญมาจากระบบจดจำใบหน้าไม่มีการเก็บตัวอย่างข้อมูลใบหน้าคนผิวสีมากพอที่จะเรียนรู้ เวลาใช้ AI วิเคราะห์ผู้หญิงผิวสีเกือบทั้งหมดจะมองเป็นผู้ชาย ไม่เว้นแม้แต่คนดังอย่างโอปราห์ วินฟรีย์ และ เซเรนา วิลเลียมส์ อัลกอริทึมของแอมะซอนก็วิเคราะห์ว่าเป็นผู้ชาย ความผิดพลาดดังกล่าวมีผลต่อการให้บริการทางสังคม เช่น การใช้สิทธิประโยชน์ของรัฐ การกู้เงินธนาคาร รวมทั้งการบันทึกประวัติเพื่อลดปัญหาอาชญากรรม
ผู้สร้างอินเตอร์เน็ต ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี เคยกล่าวไว้ว่า ‘ความเสมอภาคทางเพศบนโลกออนไลน์ เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน’ ดังนั้น โลกเสมือนที่พึ่งแห่งสุดท้ายบนความเชื่อปรัชญาความเสมอภาคของมนุษย์ จำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ลดการเลือกปฏิบัติของผู้ใช้งาน และสร้างความเสมอภาคที่สมบูรณ์ที่ไม่สามารถแสวงหาบนโลกที่แท้จริงได้