จริงๆ หากได้ฟังการพูดคุยกันในงานนี้ จะต้องเปลี่ยน Mindset ว่าขยะ คือ วัตถุดิบ ที่เราสามารถนำมาเพิ่มมูลค่าด้วยความคิดสร้างสรรค์ เช่นเดียวกับที่ “คุณเอ๋” ทำอยู่
ศิลปินสาวคนนี้ บอกว่า เธอคือ SOCIAL ACTIVIST ARTIST ผู้สร้างงานศิลปะสิ่งที่เป็นปัญหาของสังคม ซึ่งโดยส่วนตัวเธอสนใจเรื่องของสิ่งแวดล้อม ปัญหาใหญ่ของสังคมที่ขณะนี้ทั่วโลกกำลังตื่นตัวอย่างเต็มที่ เพราะมันคือสิ่งที่เกี่ยวเนื่องอยู่ใน 17 ข้อของ Sustainable Development Goals: SDGs) ที่สหประชาชาติกำหนดเป็นทิศทางการพัฒนาประชาคมโลก
งานศิลปะจากขยะของ “คุณเอ๋” คือ Installation Art งานศิลปะที่ไม่ได้อยู่แค่ในแกลอรี่ แต่เป็นงานศิลปะที่สร้างอิมแพ็คกับคนหมู่มาก จากการคำนวณให้เห็นจริงว่า ขยะต่างๆ ที่ถูกนำมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลป์แต่ละชิ้น ได้มาจากขยะอะไรบ้าง และคำนวณออกมาแล้ว สามารถดูดซับหรือลดคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับโลกได้เท่าไร
ยกตัวอย่างเช่น งานศิลปะชิ้นใหญ่รูปปลาวาฬ ของโครงการ Care the Whale ขยะล่องหนที่เกิดจากการนำ ฝาขวดน้ำ พลาสติก ฝาอะลูมิเนียม เกลียวพลาสติก และอื่นๆ อีกมากมาย มาสร้างเป็น Installation Art ปลาวาฬตัวใหญ่ที่คนสามารถเข้าไปนั่งได้ ไปสัมผัสได้ คำนวณออกมาแล้ว สามารถลดปริมาณขยะได้กว่า 1,000 กิโลกรัม หรือคิดเป็นปริมาณต้นไม้ถึง 162 ต้น...เรียกว่า เป็นการเชื่อมโยงงานศิลปะเข้ากับสิ่งแวดล้อม แล้วสื่อสารออกไปให้คนตระหนักว่า ขยะเหล่านั้น มีคุณค่าและมูลค่าขึ้นมาได้ ด้วยการแต่งเติมไอเดียสร้างสรรค์เข้าไป
เธอยังเล่าอีกว่า งานชิ้นนี้ ได้รับความร่วมมือจากชาวชุมชนบางใหญ่ นนทบุรี กว่า 10 คน ช่วยกันทำ โดยการทำงาน “คุณเอ๋” ยังได้ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะ การคัดแยก การทำความสะอาด รวมไปถึงการสรรค์สร้างไอเดียดีๆลงไป เพื่อทำให้ขยะเหล่านั้นกลับมามีคุณค่าและมูลค่าอีกครั้ง ซึ่งชาวบ้านสามารถนำความรู้ที่ได้รับกลับไปต่อยอด สร้างเป็นผลงานเก๋ๆ ของตัวเองได้
งานศิลปะจากขยะ ขณะนี้กำลังเป็นหนึ่งในชิ้นงานที่ภาคเอกชนไทย ให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ จากโครงการต่างๆ ที่แต่ละภาคส่วนพยายามลดปัญหาสารพัดขยะที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น สยามพิวรรธน์ เอสซีจี เอไอเอส โรงแรมเพนนินซูล่าแบงค๊อก โครงการเซ็นทรัลทำ และยังมีอีกหลายๆ องค์กร ที่ต้องการแปรรูปขยะหมุนเวียนกลับมาเป็นของใช้ หรืองานศิลปะเพื่อกระตุ้นการรับรู้ และลดปริมาณขยะบนโลกใบนี้
เช่นเดียวกับ “คุณเอ๋” เธอก็มีงานศิลป์ที่แปรรูปมาเป็นของใช้ออกจำหน่าย ภายใต้แบรนด์ Wishulada อาทิ กระเป๋าเก๋ๆ ที่ทำจากเศษวัสดุ ต่างๆ ซึ่งเก็บจากของเหลือใช้ภายในบ้าน รวมทั้งการรับซื้อจากซาเล้ง และการรับบริจาคจากที่โน่นที่นี่ ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางรายได้ ที่สร้างให้อาชีพ SOCIAL ACTIVIST ARTIST แข็งแกร่งขึ้นได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทั้งหมดทั้งมวล ก็เกิดจาก จุดหมายของ “คุณเอ๋” ที่ต้องการลดขยะ เพราะโลกเรามีขยะมาก ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วนจากคนที่อยู่ “ขยะไม่ใช่ปัญหาของคนใดคนหนึ่ง”...ถ้าทุกคนร่วมมือร่วมใจ แม้จะยังไม่ได้เป็น Zero Waste แต่ก็ถือเป็นการลดปริมาณที่ช่วยลดปัญหาโลกร้อนลงได้เช่นกัน
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 24 ฉบับที่ 3,659 วันที่ 7 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2564