อาชีพ "สุดรุ่ง - สุดร่วง" ยุคสังคมสูงวัย

10 มี.ค. 2564 | 13:28 น.

จากการคาดประมาณขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยในระดับสุดยอด (super-aged society ) ในปี พ.ศ 2573 ซึ่งหมายถึงว่าประชากรประมาณ 1 ใน 3 จะมีอายุมากกว่า 60 ปี การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่ของประเทศแล้ว ยังจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่โดยเฉพาะในด้าน “ตลาดแรงงาน” ของประเทศอีกด้วย

ในบทความนี้ คณาจารย์สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย ผศ.ดร. ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ ผศ.ดร. ภัทเรก ศรโชติ รศ.ดร.พัฒนาพร ฉัตรจุฑามาส ศ.ดร. เกื้อ วงศ์บุญสิน ผศ.ดร. สบิณฑ์ ศรีวรรณบูรณ์ มีความตั้งใจที่จะนำเสนอประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่ง ที่หลายท่านอาจไม่ทราบมาก่อนว่า บางอาชีพอาจจะ “รุ่ง” ในขณะที่บางอาชีพอาจจะ “ร่วง” ในยุคสังคมสูงวัย 

อาชีพ \"สุดรุ่ง - สุดร่วง\" ยุคสังคมสูงวัย

ทำไมบางอาชีพอาจจะ “รุ่ง” ในขณะที่บางอาชีพอาจจะ “ร่วง” ในยุคสังคมสูงวัย
 
สาเหตุสำคัญเกิดจากการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของทักษะในการทำงานที่แตกต่างกันในอาชีพต่างๆ เมื่อแรงงานมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่ยุคสังคมสูงวัย โดยบางอาชีพ แรงงานจะมีทักษะและมีผลิตภาพ (productivity) ที่เพิ่มขึ้นจากการมีอายุเฉลี่ยที่สูงขึ้น (“ยิ่งสูงวัย ยิ่งเก๋า”) ในขณะที่บางอาชีพ จะเป็นตรงกันข้ามคือ มีทักษะและมีผลิตภาพ (productivity) ที่ลดลงจากการมีอายุเฉลี่ยที่สูงขึ้น (“ยิ่งสูงวัย ยิ่งเฉา”) ในบทความนี้คณะผู้เขียนจะนำผลงานวิจัย ที่คณะผู้เขียนได้ศึกษาถึงผลกระทบของการเข้าสู่สังคมสูงวัยต่อผลิตภาพในอาชีพต่างๆในประเทศไทย โดยคณะผู้เขียนได้นำกระบวนการวิจัยของ Cai และ Stoyanov (2016) มาประยุกต์ใช้กับข้อมูลการสํารวจภาวะการทํางานของประชากรในอาชีพต่างๆในประเทศไทย พ.ศ. 2562 ของสํานักงานสถิติแห่งชาติ 

อาชีพใด ยิ่งสูงวัย ยิ่งเก๋า

สำหรับกลุ่มอาชีพที่ยิ่งสูงวัย ยิ่งเก๋า กลุ่มอาชีพเหล่านี้ จะเป็นกลุ่มอาชีพที่ได้รับผลประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของ ทักษะทางปัญญา (cognitive skills) บางประเภท โดยทักษะทางปัญญาที่จะเพิ่มขึ้นตามอายุ ได้แก่ ทักษะในด้านการสื่อสารด้วยการพูดและการฟัง และทักษะในด้านการสื่อสารด้วยการเขียนและการอ่าน ยกตัวอย่างเช่น อาชีพนักบริหาร ครูอาจารย์ นักการตลาด นักกฎหมาย และ นักบริการ

กลุ่มอาชีพเหล่านี้ถูกจัดลำดับว่าจะได้รับประโยชน์จากการเข้าสู่สังคมสูงวัยในด้านการมีผลิตภาพ (productivity) ที่เพิ่มขึ้นจากการมีอายุเฉลี่ยที่สูงขึ้น ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า อาชีพเหล่านี้ต้องอาศัยทักษะในด้านการสื่อสารเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำงานให้สำเร็จ ยกตัวอย่างเช่น อาชีพครูอาจารย์ เป็นอาชีพที่ต้องสั่งสมประสบการณ์ในการรู้จักพูด โดยต้องพูดให้ผู้เรียนไม่ใช้เพียงแต่จดจำบทเรียนได้ แต่จะต้องรู้จักพูด ให้บทเรียนนั้น “เข้าไปในใจ” ของผู้เรียนได้อย่างถ่องแท้

หรือ แม้แต่นักการตลาด หรือ นักบริการ ที่จะต้องเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ในการรู้จักฟัง โดยการฟังนั้น ไม่ใช้เพียงฟังเพื่อได้ยินคำกล่าวของลูกค้าหรือผู้รับบริการต่างๆ แต่จะต้องเป็นการฟังที่ เสมือนว่าผู้ฟังนั้นได้เข้าไปนั่ง “อยู่ในใจ” ของลูกค้าหรือผู้รับบริการต่างๆ อย่างแท้จริง ดังเช่นหลักการ empathize หรือ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ของกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (design thinking) นั้นเอง ซึ่งทักษะเหล่านี้จะต้องใช้เวลาในการสั่งสม 

อาชีพใด ยิ่งสูงวัย ยิ่งเฉา

สำหรับกลุ่มอาชีพที่ยิ่งสูงวัย ยิ่งเฉา กลุ่มอาชีพเหล่านี้จะเป็นกลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากการลดลงของ ทักษะทางปัญญา (cognitive skills) และ ทักษะทางกายภาพ (physical skills) บางประเภท โดยทักษะที่จะลดลงตามอายุ ได้แก่ ทักษะในด้านความจำ ทักษะในด้านการรับรู้และตอบสนอง ทักษะในด้านกำลังหรือความอดทนของร่างกาย และ ทักษะในด้านความคล่องแคล่วรวดเร็วของร่างกาย เป็นต้น

อาชีพ \"สุดรุ่ง - สุดร่วง\" ยุคสังคมสูงวัย

อาชีพที่ถูกจัดลำดับว่าจะได้รับผลกระทบเชิงลบจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยในด้านการมีผลิตภาพ (productivity) ที่ลดลงจากการมีอายุเฉลี่ยที่สูงขึ้น ได้แก่ อาชีพเกษตรกร คนงานก่อสร้าง ผู้ผลิตและควบคุมเครื่องจักร คนงานเหมืองแร่ และผู้ขับขี่ยานยนต์และเครื่องจักรชนิดเคลื่อนที่ได้ โดยอาชีพเหล่านี้ต้องอาศัย ทักษะทางปัญญา (cognitive skills) และ ทักษะทางกายภาพ (physical skills) ไม่ว่าจะเป็น ทักษะในด้านการรับรู้และตอบสนองสำหรับ ผู้ผลิตและควบคุมเครื่องจักรหรือผู้ขับขี่ยานยนต์และเครื่องจักรชนิดเคลื่อนที่ได้ หรือ แม้กระทั่งทักษะในด้านกำลังหรือความอดทนของร่างกายสำหรับอาชีพเกษตรกร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทางออกของทางตัน

การรู้จักปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เป็นทางเลือกที่ดีสุดสำหรับการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด เป็นข้อคิดสุดคลาสสิกจาก นักวิจัยในด้านวิวัฒนาการและนักธรรมชาติวิทยาชื่อดัง ชาร์ล ดาวิน (Charles Darwin) ดังนั้น ทางออกของทางตันที่ดีสุด คือการยอมรับและตระหนักว่า “ทางมันตัน” และเริ่มต้นเดินทางใหม่ๆ

สำหรับกลุ่มอาชีพต่างๆที่มีโอกาสได้รับผลกระทบเชิงลบจากการเข้าสู้สังคมสูงวัย คงหมายถึงการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ (reskill) หรือ การเรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ (relearn) ที่อาจจะทำให้ผู้ประกอบอาชีพนั้นยังคงรักษาหรือแม้แต่เพิ่มทักษะและผลิตภาพ (productivity) ให้สูงขึ้นก็เป็นได้ โดยภาครัฐเองก็ต้องมุ่งเน้นให้ความสำคัญในด้านนี้ เพราะทุกคนและทุกอาชีพไม่ได้มี “ทุน” สำหรับการปรับตัวที่เท่ากัน แต่สิ่งหนึ่งที่สรุปได้อย่างแน่นอนก็คือ ถ้าสภาพแวดล้อมได้เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนแล้ว แต่ยัง(พยายาม)ทำทุกอย่างให้เหมือนเดิม ผลลัพธ์ก็จะเป็นตามข้อสรุป ของ ชาร์ล ดาวิน ที่ทุกท่านก็ทราบดีว่าคืออะไร