ม.มหิดล พัฒนาระบบการเรียนออนไลน์สู่มาตรฐานโลก

26 มี.ค. 2564 | 13:05 น.

มหิดล สร้างโอกาส พัฒนาระบบการเรียนการสอน สู่ระบบออนไลน์มาตรฐานสากล หลังวิกฤติ COVID-19 ผลักดันให้ต้องปรับตัว เร่งพัฒนาการศึกษาไร้พรมแดน ที่ทุกคนสามารถจะเรียนได้เท่าที่ต้องการ โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ พร้อมนำระบบการเรียนการสอนแบบ hybrid เพิ่มทางเลือกการเรียนให้กับนักศึกษา เดินหน้าสู่ 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยอันดับโลก

รองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรเนติ สุขสมบูรณ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากวิกฤติ COVID-19 มหาวิทยาลัยมหิดลได้ปรับการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 เป็นระบบออนไลน์ 100% จนภาคการศึกษานี้ได้มาปรับสู่รูปแบบผสมผสาน หรือ hybrid ที่เปิดให้นักศึกษาได้เลือกเรียนทั้งในชั้นเรียน และระบบออนไลน์ ซึ่งจากการประเมินการเรียนการสอนวิชา มมศท 100 การศึกษาทั่วไปเพื่อการศึกษามนุษย์ ซึ่งเปิดให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยมหิดลได้เรียนแบบผสมผสาน จากทั้งหมดจำนวนกว่า 3,000 ราย มีนักศึกษาสนใจเข้าเรียนในชั้นเรียนจำนวนประมาณ 900 ราย โดยใช้การเช็คชื่อผ่านแอปพลิเคชัน We Mahidol เพื่อการตรวจสอบพื้นที่ปลอดภัย ลดเสี่ยง COVID-19

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลยังได้จัดให้มีสถานที่ พร้อมอุปกรณ์สำหรับนักศึกษาที่เลือกเรียนออนไลน์ในทุกวิทยาเขต โดยที่พื้นที่ศาลายา นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลสามารถเรียนออนไลน์ได้จากที่บ้าน หอพักนักศึกษา หอสมุดและคลังความรู้ฯ ห้องบรรยาย 1 - 2 คณะวิทยาศาสตร์ อาคารสิริวิทยา และที่ห้อง Mini Theater (MU Cyber Club) ซึ่งให้บริการโดย กองเทคโนโลยีสารสนเทศ (MUIT) ณ บริเวณ ชั้น 2 อาคารศูนย์การเรียนรู้มหาวิทยาลัยมหิดล (MLC) และกำลังจะมีการปรับพื้นที่บริเวณชั้นลอยของอาคาร MLC เพื่อเป็นสถานที่รองรับการเรียนออนไลน์ หรือการศึกษาด้วยตัวเอง ตามโครงการ Mahidol Digital Convergence University (Mahidol DCU) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มหาวิทยาลัยมีนโยบายในการผลักดันตัวเองสู่ 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยอันดับโลก เพราะฉะนั้น การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ของมหาวิทยาลัยมหิดล จึงเป็นไปตามแนวทางของมาตรฐานในระดับโลก โดยมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาระบบการเรียนการสอนกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก ในลักษณะของการ “Train the Trainer” อาทิ มหาวิทยาลัยแมคควอรี่ (Macquarie University) ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนทั้งด้านการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีคณาจารย์ที่ผ่านการอบรมแล้วจำนวน 3 รุ่น และจะมีการจัดอบรมอีกในปีนี้อีก 3 รุ่น 

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้ร่วมสัมมนาเครือข่าย AUN Technology Enhance Personalize Learning (AUN-TEPL) กับอีก 2 มหาวิทยาลัย ได้แก่ Singapore Management University (SMU) ประเทศสิงคโปร์ และ University of Malaya (UM) ประเทศมาเลเซีย อีกด้วย รวมทั้งจะมีการยกระดับคุณภาพทางการศึกษาออนไลน์ เข้าสู่ระบบการรับรองมาตรฐานสากล เพื่อเป็นต้นแบบทางการศึกษาออนไลน์ในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยต่อไป 

และเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการพัฒนาระบบการเรียนการสอนออนไลน์อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้จัดให้มี campaign เพื่อการจัดกิจกรรมเพื่อการส่งเสริมการเรียนการสอนออนไลน์ในโครงการต่างๆ อาทิ โครงการรางวัลการสอนออนไลน์ โครงการส่งเสริมการวิจัยการเรียนการสอนออนไลน์ โครงการบันทึกวีดิทัศน์ การบรรยายในรูปแบบ Video on demand หัวข้อ Digital Teaching Tools สำหรับอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล และโครงการอบรมการจัดการเรียนการสอนและพัฒนาบทเรียนออนไลน์แบบ MOOC & SPOC สำหรับคณาจารย์และบุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดล อีกด้วย

ต่อไปมหาวิทยาลัยมหิดลจะเปิดรายวิชาพื้นฐานให้ทุกคนได้เรียนออนไลน์ เพื่อเป็น Credit Unit Bank ที่สามารถใช้เทียบโอนได้ต่อไปในอนาคต ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้การเข้าถึงทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลมีเพิ่มมากขึ้น